มาตรา 17 ให้ ก.ค.อ. จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน ทั้งในด้านข้อมูล ทรัพยากร และการปฏิบัติงานในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีของจังหวัด
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีทั้งของภาครัฐบาลและภาคเอกชนในพื้นที่ของจังหวัด
(3) พิจารณาเสนอแนะต่อ ก.ค.อ. เพื่อแก้ไขปรับปรุง หรือวางระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีของจังหวัด
(4) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ ก.ค.อ. มอบหมาย
มาตรา 18 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา 19 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 18กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) รัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมีอำนาจแต่งตั้ง แล้วแต่กรณีให้ออก
(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ
(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
มาตรา 20 ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระและมีการแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทน ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งตนแทนในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว
มาตรา 21 ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่
มาตรา 22 การประชุมของ ก.ค.อ. หรือ ก.ค.อ. จังหวัด ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใดกรรมการผู้นั้นไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น
มาตรา 23 ก.ค.อ. หรือ ก.ค.อ. จังหวัด จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ ก.ค.อ. หรือ ก.ค.อ.จังหวัดมอบหมายก็ได้ และให้นำมาตรา 22 มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 24 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ ก.ค.อ. หรือ ก.ค.อ. จังหวัด หรือคณะอนุกรรมการที่ ก.ค.อ. หรือ ก.ค.อ. จังหวัดมอบหมาย มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
มาตรา 25 ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพขึ้นในกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) รับผิดชอบในงานธุรการของ ก.ค.อ.
(2) ประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเกี่ยวกับการคุ้มครอง การพัฒนาอาชีพและการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
(3) จัดให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพ
(4) ส่งเสริมอาชีพและจัดหางานให้แก่ผู้ซึ่งได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพตาม (3)
(5) รวบรวมผลการวิเคราะห์ วิจัย ดำเนินการติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย แผนงานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง แล้วรายงานผลให้ ก.ค.อ. ทราบ
(6) ปฏิบัติตามมติของ ก.ค.อ. หรือตามที่ ก.ค.อ. มอบหมาย
มาตรา 26 มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ประสงค์จะจัดตั้งสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 27 เมื่ออธิบดีอนุญาตให้ตั้งสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพแล้ว ให้ดำเนินการตามมาตรา 28ในกรณีที่อธิบดีไม่อนุญาต ให้ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการไม่อนุญาตคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
มาตรา 28 ให้อธิบดีกำหนดท้องที่ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่จัดตั้งขึ้น โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในกรณีที่มีเหตุอันสมควร อธิบดีอาจเปลี่ยนแปลงท้องที่ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพก็ได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 29 เมื่อปรากฏว่ามูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 26 ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นดังกล่าวระงับการกระทำ ปรับปรุง แก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่แจ้งไปภายในเวลาที่กำหนดในกรณีที่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติตามคำสั่งแต่ไม่ทันภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้ากระทำการแทนเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ และให้มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นนั้นเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการนี้ค่าใช้จ่ายตามวรรคสอง ให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรตามที่อธิบดีกำหนดถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่อาจกระทำการตามวรรคสองได้ หรือแม้ว่าจะได้กระทำตามวรรคสองแล้วก็ตาม แต่มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นนั้นก็ยังไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้เอง หรือถ้าจะให้ดำเนินการต่อไปอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่อยู่ในสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพดังกล่าว ให้เสนออธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตในกรณีที่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการเป็นความผิดร้ายแรงที่อธิบดีเห็นว่าไม่สมควรสั่งการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเสียก่อน ก็ให้อธิบดีมีอำนาจพิจารณาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้
มาตรา 30 มูลนิธิ สมาคม หรือสถาบันอื่นที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา26 ซึ่งถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 29 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตต่อรัฐมนตรีเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และในระหว่างรอการวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้ดำเนินการต่อไปได้คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด
มาตรา 31 ในกรณีที่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้เพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 26 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีดำเนินการส่งผู้รับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพไปยังสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพอื่น
(ต่อ)