การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๗ และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงฮานอย เวียดนาม

ข่าวต่างประเทศ Friday October 22, 2010 07:16 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ น.ต. อิทธิ ดิษฐบรรจง ร.น. อธิบดีกรมอาเซียน ได้บรรยายสรุปแก่สื่อมวลชน เรื่องการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๗ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมฯ ระหว่างวันที่ ๒๘-๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ National Convention Centre (NCC) โดยนอกจากการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกันเองแล้ว จะมีการประชุมสุดยอดกับประเทศคู่เจรจา ๔ ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย การประชุมสุดยอดอาเซียน บวก ๓ และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศสหรัฐฯ และรัสเซียได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมด้วยในฐานะแขกพิเศษของประธาน (Special Guests of the Chair) และผู้แทนพิเศษของผู้นำของตน

นอกจากนี้ น.ต. อิทธิฯ ได้กล่าวว่า ในปีนี้จะมีการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ (Commemorative Summits) จัดขึ้นเพิ่มเติมอีก ๔ รายการ คือ การประชุมสุดยอดอาเซียนกับรัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหประชาชาติ ซึ่งนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง รวมทั้งจะมีการประชุมระดับผู้นำในกรอบอนุภูมิภาคอีก ๒ กรอบ คือ การประชุมสุดยอดในกรอบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT Summit) ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยจะปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุม และการประชุม สุดยอดประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒

ทั้งนี้ ในภาพรวมประเด็นสำคัญที่จะมีการหยิบยกในระหว่างการประชุม ได้แก่

(๑) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค เป็นประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีได้ให้วิสัยทัศน์เอาไว้ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน โดยจะมีการรับรองแผนแม่บทซึ่งคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนได้ยกร่างขึ้น เน้นความเชื่อมโยงทั้งในด้านกายภาพ (เส้นทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ ทางอากาศ ICT และพลังงาน) ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบต่าง ๆ และความเชื่อมโยงและการติดต่อระหว่างประชาชนต่อประชาชน

(๒) โครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยเฉพาะการพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และรัสเซียในโครงสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคและในบริบทของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

(๓) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และอาจหารือเพื่อประสานนโยบายการเงินการคลังในระดับมหภาค

(๔) การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน เลขาธิการอาเซียนจะรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนงานสำหรับการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในทั้ง ๓ เสาหลัก

(๕) สิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะการประสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายทหารและพลเรือนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ

(๖) ประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ จะมีการหารือในประเด็นปัญหาที่ผู้นำมีความสนใจร่วมกัน เช่น สถานการณ์ในพม่า เป็นต้น

นอกจากนี้ น.ต. อิทธิฯ ได้กล่าวว่า ในระหว่างการประชุมฯ มีเอกสารสำคัญที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมลงนามหรือรับรอง รวม ๒๓ ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นเอกสารที่นายกรัฐมนตรีจะร่วมรับรอง ๑๓ ฉบับ ที่สำคัญ ได้แก่

o ร่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน

o แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทักษะสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (กระทรวงพัฒนาสังคมฯ)

o ปฏิญญาฮานอยว่าด้วยการเสริมสร้างสวัสดิการและการพัฒนาสตรีและเด็กอาเซียน (กระทรวงพัฒนาสังคมฯ)

o เอกสารที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา คือ ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมลงร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างอาเซียน-รัสเซีย และร่วมรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในการค้นหา และให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนและเรือขนาดใหญ่ที่ประสบภัยทางทะเลด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ