คำกล่าวของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อที่ประชุมของรัฐสภา เรื่อง บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission - JBC)วันอังคารที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓
กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพ
เรียน ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติ
กระผมนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขอเรียนเกี่ยวกับเรื่องการเสนอบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาสามฉบับที่รัฐบาลได้เสนอ เพื่อขอความเห็นชอบของรัฐสภา ดังนี้
กระผมได้เคยนำเสนอเรื่องนี้ต่อท่านผู้ทรงเกียรติเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้เป็นการประชุมลับ เนื่องจากการอภิปรายในประเด็นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อท่าทีทางกฎหมายของไทยหรือต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยกับกัมพูชา ก่อนที่ที่ประชุมแห่งนี้จะได้มีมติขอให้รัฐบาลถอนเรื่องดังกล่าวออกจากวาระพิจารณาไปก่อน
ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ ให้เสนอบันทึกการประชุม JBC ทั้งสามฉบับอีกครั้งเพื่อขอความเห็นชอบของรัฐสภา และประธานรัฐสภาได้บรรจุบันทึกการประชุมฯ ในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ ๒ (สมัยสามัญทั่วไป) วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ แต่รัฐสภายังไม่ได้พิจารณาจนปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไป บันทึกการประชุมฯ ดังกล่าว จึงเป็นอันตกไป ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทน ราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๕๗ ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลม ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
ท่านประธานที่เคารพ
ขณะนี้ รัฐบาลเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเสนอบันทึกการประชุมทั้งสามฉบับให้ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติพิจารณาอีกครั้ง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบันทึกการประชุม ทั้งสามฉบับ
คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เป็นเวทีทวิภาคีที่ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาหารือความเห็นที่แตกต่างกันในทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย สภาพภูมิศาสตร์ แผนที่ และเอกสารต่าง ๆ ทั้งนี้ หากประเทศทั้งสองไม่สามารถผลักดันให้กลไกการแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในกรอบทวิภาคีของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ดำเนินการต่อไปให้มีความคืบหน้าได้แล้ว ความขัดแย้งในเรื่องเขตแดนรวมทั้งความตึงเครียดตามแนวชายแดนที่เกิดขึ้นอาจถูกผลักดันให้นำเข้าสู่การพิจารณาของกลไกระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน หรือกลไกระดับพหุภาคีผ่านทางการพิจารณาขององค์การระหว่างประเทศ เช่น คณะมนตรีความมั่นคง และสมัชชาสหประชาชาติ เป็นต้น ซึ่งจะมีการแทรกแซงจากบุคคลหรือองค์กรฝ่ายที่สามต่าง ๆ ในหลายรูปแบบ
ดังนั้น เพื่อให้รัฐบาลไทยสามารถดำเนินการเจรจาแก้ไขปัญหาที่ละเอียดอ่อนนี้ต่อไปได้โดยสันติวิธีภายในกรอบกลไกทวิภาคีตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและแนวปฏิบัติสากล และเพื่อไม่ให้ความตึงเครียดขยายลุกลามจนเป็นเหตุการณ์ปะทะด้วยกำลังทหาร หรือกระทบต่อความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศในภาพรวมหรือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน ในการนี้กระผมจึงขอเรียนสรุปภูมิหลังและความเป็นมาของบันทึกการประชุมฯ ทั้ง ๓ ฉบับ ดังนี้
เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๑ รัฐสภาได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาด้านการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนว ในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission — JBC) และกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบนี้ด้วยคะแนนเสียง ๔๐๖ ต่อ ๘ จาก ๔๑๘ เสียงของผู้เข้าร่วมประชุม และได้ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ด้วยคะแนนเสียง ๔๐๙ ต่อ ๗ จาก ๔๑๘ เสียงของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นการดำเนินการมาตรา ๑๙๐ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐
สำหรับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันนี้เป็นเรื่องการขอความเห็นชอบบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC เท่านั้น ไม่ได้ขอความเห็นชอบร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ซึ่งกระผมขอทำความเข้าใจให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนบริเวณประสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นเอกสารประกอบแนบอยู่ในบันทึกการประชุมฯ ทั้งสามฉบับ จนถึงปัจจุบันยังคงเป็นเอกสารที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้และจะต้องเจรจากันต่อไป และเมื่อสามารถตกลงกันได้แล้ว ก็จะต้องนำร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ เสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วย และร่างข้อตกลงชั่วคราวจะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือแจ้งภาคีแต่ละฝ่ายว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญของตนเสร็จสิ้นแล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าว ร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ จึงยังไม่มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ การนำเสนอให้รัฐสภาในครั้งนี้ ก็เพื่อแจ้งให้ทราบถึงพัฒนาการในการเจรจาเกี่ยวกับร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ มิได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
ท่านประธานที่เคารพ
ภายหลังจากได้รับความเห็นชอบกรอบการเจรจาด้านการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนว ในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกลไกอื่น ๆ ภายใต้กรอบนี้ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๑ ดังกล่าวแล้ว คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ได้ประชุมกับคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (ฝ่ายกัมพูชา) จำนวน ๓ ครั้ง กระบวนการเจรจาเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา มีความคืบหน้าไปพอสมควร และในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๒ ได้มีการลงนามบันทึกการประชุม ๓ ฉบับ ได้แก่
๑. บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ที่เมืองเสียมราฐ เมื่อวันที่ ๑๐-๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
๒. บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ ๔ ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๓-๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ และ
๓. บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ ๖-๗ เมษายน ๒๕๕๒
สาเหตุที่ไม่ได้นำเสนอบันทึกความเข้าใจในแต่ละครั้งเนื่องจากการประชุมครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ มีบางประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมา เมื่อมีการประชุม ครั้งที่ ๓ และตกลงกันได้แล้ว จึงมีการลงนามในบันทึกการประชุมทั้งสามฉบับพร้อมกัน
การลงนามบันทึกการประชุมทั้ง ๓ ฉบับ ไม่เป็นผลให้บันทึกการประชุมแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับจนกว่าทั้งสองฝ่ายจะยืนยันผ่านช่องทางการทูตว่าได้มีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในครบถ้วนแล้ว วันนี้ จึงขอเสนอบันทึกการประชุมทั้ง ๓ ฉบับต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนที่จะยืนยันแก่ฝ่ายกัมพูชาผ่านช่องทางการทูตเพื่อให้บันทึกการประชุมมีผล และเพื่อให้กระบวนงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ได้ดำเนินงานต่อไป
คณะผู้แทนของไทยในองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายเทคนิคการสำรวจ (ประธานฝ่ายไทยคือนายวศิน ธีรเวชญาน ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ) กระผมจึงขอยืนยันและให้ความมั่นใจต่อรัฐสภาว่า คณะผู้แทนฝ่ายไทยได้พิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบอย่างยิ่งและได้เจรจาตามกรอบการเจรจาที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
ประเด็นสำคัญที่เป็นผลของการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ที่ปรากฏตามบันทึกการประชุมทั้ง ๓ ฉบับ ได้แก่
๑. ที่ประชุมยืนยันว่าควรดำเนินการตามขั้นตอนที่ ๒ ของแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของการสำรวจฯ โดยเร็วที่สุด คือให้ผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ (Orthophoto Maps) ตลอดแนวเขตแดน เพื่อช่วยในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทคนิคหารือกันในเรื่องนี้ต่อไปโดยเร็วที่สุด
๒. เห็นชอบว่าชุดสำรวจร่วมอาจเริ่มการสำรวจพื้นที่ตอนที่ ๕ (หลักเขตแดนที่ ๑-๒๓) ตั้งแต่อำเภอภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ จนถึง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์
๓. ที่ประชุมหารือเรื่องการจัดทำคำแนะนำ (Instruction) สำหรับการสำรวจในพื้นที่ตอนที่ ๖ (หลักเขตแดนที่ ๑ — เขาสัตตะโสม) ซึ่งรวมบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปหารือกันในระดับเทคนิคต่อไป
๔. ระหว่างรอการจัดทำข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหารให้แล้วเสร็จ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เริ่มสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ตอนที่ ๖ ทันทีที่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับคำแนะนำสำหรับการสำรวจในพื้นที่ตอนที่ ๖
๕. เห็นชอบให้มีการประชุม JBC สมัยวิสามัญ เพื่อหารือประเด็นกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่สำรวจตอนที่ ๖ เมื่อมีการเริ่มสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ดังกล่าว
๖. รับทราบว่าเจ้าหน้าที่เทคนิคของทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกันเกี่ยวกับร่างภาษาอังกฤษของรายงานร่วมว่าด้วยการสำรวจสภาพและที่ตั้งของหลักเขตแดน ๒๙ หลัก (หลักเขตแดนที่ ๒๓-๕๑) และตกลงให้เจ้าหน้าที่เทคนิคของทั้งสองฝ่ายร่วมกันตรวจสอบร่างรายงานการสำรวจฯ ทั้งสามภาษา (คือภาษาไทย กัมพูชาและอังกฤษ) ก่อนส่งให้คณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วม (Joint Technical Sub-Commission — JTSC) และ JBC พิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อไปตามลำดับ
๗. รับทราบว่าฝ่ายไทยจะส่งร่างภาษาอังกฤษของรายงานร่วมว่าด้วยการสำรวจสภาพและที่ตั้งของหลักเขตแดนสำหรับ ๑๙ หลักที่เหลือ (หลักเขตแดนที่ ๕๒-๗๐) ให้ฝ่ายกัมพูชาพิจารณาต่อไปโดยเร็วที่สุด
ท่านประธานที่เคารพ
ในโอกาสนี้ กระผมขอเรียนให้ที่ประชุมทราบว่า หลังจากที่ได้มีการจัดทำบันทึกการประชุมทั้ง ๓ ฉบับตามที่กระผมได้กล่าวมานั้น ทางรัฐบาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๐ ที่จะให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งรวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ผ่านการจัดเสวนา การสัมมนา และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เผยแพร่ ในลักษณะคู่มือให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านเขตแดน ซี่งได้แจกจ่ายในโอกาสต่าง ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลได้รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนเพื่อที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
ท่านประธานที่เคารพ
มีประเด็นข้อห่วงใยจากภาคประชาชนเป็นอันมากเกี่ยวกับการเจรจาการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกกับกัมพูชาจะยึดหลักอะไรในการเจรจา ผมขอเรียนว่า การเจรจาจะเป็นไปตามกรอบการเจรจาด้านการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนว ในกรอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๑ และการเจรจาในพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร รัฐบาลมีแนวทางในการยึดสันปันน้ำในการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา โดยสอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลไทยยึดถือมาตลอดและเป็นไปตามหลักการที่ปรากฏในอนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส แก้ไขข้อบทเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญา ฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ (ปี ค.ศ. ๑๘๙๓) ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่นๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๒ (ปี ค.ศ. ๑๙๐๔) (หรือที่รู้จักกันในนาม อนุสัญญา ปี ค.ศ. ๑๙๐๔) และ สนธิสัญญาระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยามกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฉบับลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ (ปี ค.ศ. ๑๙๐๗) กับพิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดนแนบท้ายสนธิสัญญา ฉบับลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ (ปี ค.ศ. ๑๙๐๗) (หรือที่รู้จักกันในนาม สนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗)
ท่านประธานที่เคารพ
กระผมขอย้ำว่า หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ทั้ง ๓ ฉบับนี้ ก็จะยังไม่ทำให้ร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นเอกสารประกอบแนบไว้กับบันทึกการประชุม JBC แต่ละฉบับ นั้น มีผลใช้บังคับ หรือเป็นการรับรองการเจรจาเท่าที่มีมาเกี่ยวกับร่างดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ เนื่องจาก
ประการแรก การเจรจาข้อตกลงชั่วคราวดังกล่าว อยู่ภายใต้กรอบการเจรจาอีกกรอบหนึ่งต่างหาก ได้แก่ กรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ซึ่งรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๑ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาเป็นผู้เจรจาข้อตกลงชั่วคราวแทน
ประการที่สอง การเจรจาข้อตกลงชั่วคราวยังมีประเด็นคงค้าง และต้องเจรจากันต่อไป ยังไม่มีข้อยุติ และเมื่อการเจรจาได้ข้อยุติในทุกข้อบทแล้ว การลงนามข้อตกลงชั่วคราวจะไม่ทำให้ข้อตกลงฯ มีผลใช้บังคับเนื่องจากรัฐบาลต้องนำข้อตกลงฯ มาเสนอขอความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนที่จะดำเนินการให้มีผลผูกพัน
ข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหารเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อลดความตึงเครียดบริเวณชายแดนบริเวณประชิดปราสาทพระวิหารระหว่างรอการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในบริเวณดังกล่าว และจะยุติการบังคับใช้เมื่อการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในบริเวณดังกล่าวเสร็จสิ้น
ท่านประธานที่เคารพ
สำหรับบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา จำนวน ๓ ฉบับที่เรียนเสนอขอความเห็นชอบของรัฐสภา หากได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ก็จะได้แจ้งยืนยันฝ่ายกัมพูชาโดยช่องทางการทูตให้บันทึกการประชุมทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าวมีผล เพื่อให้กระบวนการเจรจาเรื่องเขตแดน และการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ในกรอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ดำเนินต่อไปได้ อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งไทยและกัมพูชาที่จะระงับข้อพิพาทเขตแดนที่มีอยู่อย่างสันติวิธี และเพื่อที่จะให้การดำเนินงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สามารถดำเนินต่อไปได้ อันจะมีส่วนช่วยป้องกันมิให้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาเขตแดนเกิดความชะงักงันและเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศ เพื่อนบ้าน
ขอบคุณครับ
๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--