การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๗ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงฮานอย เวียดนาม โดยได้มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นหารือในหลายโอกาส และในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจะร่วมรับรองแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) ด้วย ซึ่งครอบคลุมถึงการผลักดันความเชื่อมโยงในสามด้าน ได้แก่ ๑) การเชื่อมโยงทางกายภาพ ๒) การประสานกฎ ระเบียบด้านการขนส่งและคมนาคมให้สอดคล้องกัน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการขนส่งและการเดินทางข้ามแดน ๓) การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนอาเซียนมีความเป็นหนึ่งเดียวกันและเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกัน ซึ่งการเชื่อมโยงทั้งสามด้านถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่การสร้างประชาคมอาเซียนต่อไป ทั้งนี้ ในปัจจุบันอาเซียนมีแผนเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญหลายโครงการทั้งในกรอบอนุภูมิภาคและในกรอบอาเซียน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ตามมาคือ การดำเนินการตามแผนดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหางบประมาณสนับสนุน การผลักดันความคืบหน้าของโครงการ และการประสานเชื่อมโยงระหว่างโครงการ (missing link) ดังนั้น การรับรองแผนแม่บทฯ ดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างและเร่งรัดการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่
แนวคิดของการสร้าง “ประชาคมแห่งการเชื่อมโยง” (Community of Connectivity) เป็นความริเริ่มของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๕๒ จากการเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภูมิภาคอาเซียนซึ่งกำลังย่างก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน รวมทั้งโอกาสและศักยภาพทางภูมิศาสตร์ของอาเซียนในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และแปซิฟิก เพื่อเพิ่มพูนการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน และส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออก
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--