ผู้นำอาเซียนร่วมเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๗ อย่างเป็นทางการ

ข่าวต่างประเทศ Monday November 1, 2010 08:04 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๗ รวมทั้งการหารือระหว่างอาหารกลางวันกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจของอาเซียน การประชุมผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ ๕ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และการหารือระหว่างอาหารค่ำ ณ กรุงฮานอย เวียดนาม

ในช่วงการประชุมผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ผู้นำอาเซียนได้หารือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

๑. การสร้างประชาคมอาเซียน ที่ประชุมฯ เห็นพ้องให้อาเซียนเร่งบูรณาการภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน ส่งเสริมเศรษฐกิจที่เน้นองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และส่งเสริมจิตสำนึกความเป็นพลเมืองอาเซียน

๒. ความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ที่ประชุมฯ รับรองแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) และเสนอให้รัฐมนตรีคลังอาเซียนพิจารณาการก่อตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน และพิจารณาบทบาทของประเทศคู่เจรจาในการส่งเสริมการพัฒนาดังกล่าว

๓. การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืน ผู้นำอาเซียนแสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์การเงินโลก และเห็นพ้องให้อาเซียนมีมาตรการร่วมกันในการรับมือกับปัญหานี้

๔. การจัดการภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิภาคอาเซียนได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน ที่ประชุมฯ จึงเห็นชอบให้มีการเร่งจัดตั้งศูนย์สำรองข้าวฉุกเฉินในกรอบอาเซียน +๓ และกองทุนการจัดการภัยพิบัติอาเซียน โดยเร็ว

๕. โครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (regional architecture) และการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจา ที่ประชุมฯ เห็นความสำคัญในการสร้างสมดุลย์ในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศคู่เจรจา เพื่อเน้นบทบาทความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ในการนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติที่จะขยายสมาชิกภาพของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) โดยมีสหรัฐอเมริกาและสหพันธรัฐรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในปี ๒๕๕๔ ซึ่งในการประชุม EAS ในครั้งนี้ ทั้งสองประเทศจะได้เข้าร่วมในฐานะแขกของประธาน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ ๕ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (5th Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle Summit) ซึ่งที่ประชุมฯ ได้ทบทวนการดำเนินงานในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการปรับตัวต่อผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยให้ความสำคัญกับการปรับกฎระเบียบด้านโลจิสติกส์ และการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานระหว่าง ๓ ประเทศ และแสวงหาความร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางด้านอาหาร (food security) และกับสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ในด้านพลังงานทางเลือก

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจกับการพัฒนาสังคมต้องดำเนินไปควบคู่กัน ดังเช่นโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในภาคใต้ของไทย ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (๒๕๕๕-๒๕๕๙) ของไทย ไทยยังได้เน้นการส่งเสริมการดำเนินความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ รวมทั้งได้เน้นถึงความสำคัญของบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและหน่วยงานในพื้นที่อีกด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ