การประชุมสุดยอดลุ่มน้ำโขง — ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒

ข่าวต่างประเทศ Monday November 1, 2010 08:10 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดลุ่มน้ำโขง — ญี่ปุ่น ณ กรุงฮานอย คู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๗ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Mekong-Japan International Conference on East-West -EWEC and Southern Economic Corridors-SEC) ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๓ ตามที่ได้เสนอในที่ประชุมสุดยอดลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๕๒ และเน้นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมกัน ในการนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะต่อไป ควรเน้นการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟและถนนสายรอง ซึ่งญี่ปุ่นสามารถมีบทบาทสนับสนุนการก่อสร้างและการศึกษาความเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวพื้นที่ EWEC และ SEC นอกจากนี้ ในด้านการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน นายกรัฐมนตรีแจ้งว่า ไทยพร้อมจะนำร่องโครงการเปิดด่านศุลกากร ๒๔ ชั่วโมง จัดตั้งช่องทางเร่งด่วน (fast lane) ที่ด่านชายแดน และผลักดันการดำเนินความตกลงขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน และชื่นชมบทบาทของเอกชนในการจัดทำแผนปฏิบัติการข้อริเริ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (MJ-CI Action Plan) ด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสำคัญในการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนุภูมิภาค และเชิญชวนให้ญี่ปุ่นริเริ่มความร่วมมือในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (International Institute for Trade and Development: ITD) ในไทย และได้ประกาศว่า รัฐบาลไทยจะจัดสรรทุนฝึกอบรมเพิ่มขึ้นอีก ๑๐๐ ทุนให้แก่ประเทศลุ่มน้ำโขง อีกทั้งเน้นว่า การพัฒนาอนุภูมิภาคทางเศรษฐกิจไม่ควรละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และยินดีกับข้อริเริ่ม “หนึ่งทศวรรษสู่แม่โขงเขียวขจี” ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบความร่วมมือนี้

ในการนี้ นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนยันคำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมสุดยอดลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒ (Joint Statement for the 2nd Mekong-Japan Summit) ซึ่งสะท้อนผลการประชุมที่ได้หารือถึงความสำเร็จที่ผ่านมาและแนวทางความร่วมมือในอนาคต บนแผนปฏิบัติการ ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) แผนปฏิบัติการข้อริเริ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (MJ-CI Action Plan) ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและโลจิสติกส์ การส่งเสริม SME อุตสาหกรรมสนับสนุน ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมใหม่ และ (๒) แผนปฏิบัติการสำหรับข้อริเริ่ม “หนึ่งทศวรรษสู่แม่โขงเขียวขจี” (Action Plan for “A Decade toward the Green Mekong” Initiative) ซึ่งญี่ปุ่นเสนอให้ความช่วยเหลือต่อลุ่มน้ำโขงในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อาทิ การจัดการป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ การจัดการทรัพยากรน้ำ และมลพิษทางอากาศในเขตชุมชนเมือง เป็นต้น

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ