คำกล่าวตอบของรัฐมนตรีว่าการฯ ในการประชุมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย—กัมพูชา รวม ๓ ฉบับ (๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓)

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 4, 2010 07:18 —กระทรวงการต่างประเทศ

กราบเรียน ท่านประธานที่เคารพ

เรียน ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติ

กระผมนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขอขอบพระคุณท่านสมาชิกรัฐสภาที่ได้อภิปรายให้ข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา รวม ๓ ฉบับ ซึ่งได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๓

กระผมตระหนักดีว่าประเด็นปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องสำคัญและประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก ขอเรียนว่า ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้พยายามชี้แจง ให้ข้อมูลข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ แก่ประชาชน กรรมาธิการต่าง ๆ ทั้งของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา สื่อมวลชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคมมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้ได้รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน

กระผมขอเรียนว่า MOU ๒๕๔๓ เป็นเครื่องมือที่ไทยกับกัมพูชาใช้ในการดำเนินการเรื่องเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อหาว่า เส้นเขตแดนที่สยามกับฝรั่งเศสได้ตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้วในอดีต ว่าอยู่ที่ใด กระผมหมายถึงตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และปี ค.ศ. ๑๙๐๗ ดังนั้น MOU ๒๕๔๓ จึงไม่ใช่ความตกลงเพื่อปักปันเขตแดน หรือเพื่อกำหนดหรือแบ่งเขตแดนกันใหม่ นอกจากนี้ MOU ๒๕๔๓ ยังเป็นกรอบของทั้งสองฝ่ายที่เสนอว่า จะใช้เอกสารใดบ้าง ดังนั้น เมื่อเป็นการเจรจาทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายจึงเสนอเอกสารหลักฐานที่ฝ่ายตนเชื่อว่าเป็นหลักฐานสำคัญ แม้ MOU จะมีการกำหนดแผนที่ระวางดงรัก มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ เป็นหนึ่งในเอกสารตามข้อ ๑ (ค) ใน MOU ๒๕๔๓ แต่ก็มิได้หมายความว่าเป็นการยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวผูกพันฝ่ายไทยแต่อย่างใด ดังนั้น MOU ๒๕๔๓ จึงไม่ใช่การยอมรับแผนที่ระวางดงรักมาตราส่วน ๑: ๒๐๐,๐๐๐ แต่เป็นเพียงเอกสารหนึ่งในเอกสารหลาย ๆ ฉบับที่ต้องนำมาใช้ประกอบการพิจารณา ร่วมกับเอกสารสำคัญอีกสองฉบับ คือ อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ๑๙๐๔ (๒๔๔๗) และสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๗ (๒๔๕๐) ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับกระบวนการในศาล กรณีการเสนอพยานหรือหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายสามารถเสนอได้ แต่มิได้หมายความว่า จะผูกมัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ต้องยอมรับพยานหรือหลักฐานนั้น หรือยอมรับความถูกต้องของพยานหรือหลักฐานนั้น โดยในการดำเนินการตาม MOU ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการดำเนินการสำรวจภูมิประเทศจริง การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่คือภาพถ่ายทางอากาศมาตรวจสอบ ประกอบเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง

ท่านประธานที่เคารพ

เขตแดนไทย-กัมพูชาบริเวณปราสาทนี้ถูกกำหนดขึ้นโดยสนธิสัญญาสองฉบับคืออนุสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๔ และสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งกำหนดให้เขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นไปตามสันปันน้ำบนเทือกเขา ดงรัก และให้ตั้งคณะกรรมการผสมสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศสร่วมปักปันเขตแดนที่แน่ชัด

ในคดีปราสาทพระวิหารศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่ตัดสินในประเด็นเส้นเขตแดนไทย—กัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหาร และโดยที่ศาลฯ ได้จำกัดขอบเขตของการพิจารณาคดีนี้ว่า ศาลฯ จะไม่พิจารณาพิพากษาในประเด็นเส้นเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ ๑:๒๐๐,๐๐๐ ไทยจึงมีข้อโต้แย้งตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและทางเทคนิคที่สนับสนุนการใช้หลักสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนตามตัวบทสนธิสัญญา ๑๙๐๔ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ยึดถือการใช้สันปันน้ำเป็นแนวทางในการดำเนินการเรื่องเขตแดน และปฏิเสธไม่ยอมรับการใช้แผนที่ระวางดงรักซึ่งเป็นหนึ่งในชุดแผนที่ระวาง ๑:๒๐๐,๐๐๐ มาโดยตลอด เนื่องจากแผนที่ดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง คือไม่เป็นไปตามสันปันน้ำและไม่สามารถนำมาปรับใช้กับภูมิประเทศจริงได้

การกำหนด “ท่าที” ของฝ่ายไทยสำหรับการเจรจาเขตแดนไทย—กัมพูชา เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการทำให้เส้นเขตแดนมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ลดการเผชิญหน้าทางทหาร โดยคำนึงถึงกรอบกฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาสยาม—ฝรั่งเศส โดยการดำเนิน การของส่วนราชการ รวมทั้งการดำเนินการในกรอบเจบีซี ก็ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

กระผมของยืนยันว่า การดำเนินการใด ๆ ในเรื่องนี้ จะยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ และดำเนินการอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และจะไม่ยอมให้มีการสูญเสียดินแดนหรืออธิปไตยของชาติแต่อย่างใด

ท่านประธานที่เคารพ

ตามที่สมาชิกรัฐสภาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการไม่คงกำลังทหารในร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย—กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารและอาจเสียเปรียบฝ่ายกัมพูชา นั้น

ขอเรียนว่า การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาเกี่ยวกับข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร เป็นการดำเนินการเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างทหารทั้งสองฝ่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นกลไกแก้ไขข้อพิพาทในพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหารเป็นการชั่วคราวในระหว่างที่การดำเนินการในเรื่องเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ โดยเป็นการดำเนินการตามกรอบการเจรจาที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๑ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้มอบให้ประธานเจบีซีของแต่ละฝ่ายเจรจากัน แต่จนถึงขณะนี้การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงยังไม่ได้นำร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้เนื้อหาของร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ เป็นไปตามกรอบความตกลงชั่วคราวที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหน้าที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะเข้ารับหน้าที่ โดยเป็นการเห็นชอบ ๔๐๙ เสียงและไม่เห็นชอบเพียง ๗ เสียง คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วว่าสาระของร่างข้อตกลงชั่วคราวมีเนื้อหาที่สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชน จึงได้ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อ แต่ปัจจุบันก็ยังมีข้อติดขัดบางประการ

ขณะนี้ สถานะของข้อตกลงชั่วคราวยังเป็นเพียงร่างเอกสารที่ยังไม่เป็นที่ยุติซึ่งจะต้องเจรจากันต่อไป และเมื่อสามารถตกลงกันได้แล้วก็จะต้องนำร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ นี้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อนำเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อตกลงชั่วคราวฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือแจ้งภาคีแต่ละฝ่ายว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญของตนเสร็จสิ้นแล้ว

(ต่อคำถามเรื่องการไม่คงกำลังทหารเป็นผลเสียกับไทยหรือไม่)

ข้อตกลงชั่วคราวฯ เป็นมาตราการลดความตึงเครียดบริเวณปราสาทพระวิหาร โดยหลีกเลี่ยงการปะทะกันและการใช้กำลัง คืนความปกติสุขให้แก่ประชาชนตามแนวชายแดน และใช้การปรึกษาหารือระหว่างคู่ภาคีในระหว่างการรอการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกภายใต้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย—กัมพูชาให้แล้วเสร็จ หากร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ มีผลใช้บังคับ การไม่คงกำลังทหารดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่า กลไกการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นไปด้วยดี และบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่มุ่งมั่นจะแก้ปัญหาข้อพิพาทเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารโดยสันติวิธีและเป็นไปอย่างฉันท์มิตร ดังนั้นการที่ทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายไทยและกัมพูชาไม่คงกำลังไว้ในพื้นที่ไม่ได้เป็นการทำให้เสียดินแดนหรืออธิปไตยแต่อย่างใดในพื้นที่ที่ประชิดปราสาท และฝ่ายไทยก็ไม่ได้สูญเสียความสามารถในการปกป้องดินแดนภายใต้อธิปไตยของไทย และไทยก็ได้ประท้วงกิจกรรมต่าง ๆ ของกัมพูชาบริเวณพื้นที่ประชิดปราสาทเพื่อยืนยันอธิปไตยของไทย ทั้งนี้ ผลของการประท้วงในทางกฎหมายระหว่างประเทศ มีนัยแสดงถึงการไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

สำหรับการถอนชุมนุมนั้น ขอเรียนว่า เมื่อร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ มีผลบังคับใช้ ข้อ ๔ ของร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ กำหนดพื้นที่ให้อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ซึ่งหมายถึงให้รื้อถอนชุมชนและสิ่งปลูกสร้างออกไปพร้อมกับการไม่คงกำลังทหาร จึงขอยืนยันว่าข้อตกลงชั่วคราวนี้จะต้องรวมเงื่อนไขเกี่ยวกับการถอนชุมนุมและสิ่งปลูกสร้างออกไปด้วย

(ต่อคำถามเรื่องการไม่คงกำลังทหารในพื้นที่เป็นผลดีกับกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก)

ขอเรียนว่า พื้นที่กันชนสำหรับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก (buffer zone) ที่กัมพูชาเสนอ ไม่รวมพื้นที่ซึ่งเป็นข้อพิพาทด้านเขตแดนกับไทย และระบุด้วยว่า การกำหนดเขตกันชนจะกำหนดตามผลของการจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการสำรวจจัดทำหลักเขตแดนภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ส่งผลให้ประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกต้องรอผลการสำรวจจัดทำหลักเขตแดนภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา เพื่อประกอบการพิจรณาขึ้นทะเบียนมรดกโลก

(ประเด็นมรดกโลก ต่อคำถามเกี่ยวกับ ICC จะสามารถเข้ามาจัดการพื้นที่ 4.6 ตร.กม.)

ขอเรียนยืนยันว่า การดำเนินการใด ๆ ของกัมพูชา และยูเนสโก รวมทั้ง ICC หากจะออกมานอกตัวปราสาท หรือเข้ามาในพื้นที่ของไทยจะต้องได้รับอนุญาตจากประเทศไทยก่อน ดังนั้น จึงวางใจได้ว่า การดำเนินการของ ICC จะไม่ล่วงล้ำเข้ามาในพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม. ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี

(กรณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่อคำถามที่ว่า ท่าทีของตัวกระผมไม่เป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินความสัมพันธ์)

ท่านประธานที่เคารพ

ตามที่สมาชิกรัฐสภาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน กระผมขอยืนยันว่า รัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญเสมอมากับการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านบนพื้นฐานของการบรรลุผลประโยชน์ร่วมกัน และในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์แห่งชาติของไทย อันได้แก่ อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของประเทศ ตลอดจนความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของไทย ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการด้วยความระมัดระวังที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน หากในขณะเดียวกันก็ปกป้องมิให้ไทยต้องเสียประโยชน์ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม โดยผลที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่น่าพอใจ กล่าวคือความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในระดับปกติหรือดียิ่งขึ้น ในบางส่วนที่เคยเป็นปัญหาก็มีการปรับตัวในเชิงบวก ซึ่งสะท้อนว่าการดำเนินการของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการมาในทิศทางที่ถูกต้องและมีประสิทธิผล

ท่านประธานที่เคารพ

จากปัญหาข้อพิพาทเขตแดนที่ผ่าน ๆ มา แสดงให้เห็นว่าการมีเส้นเขตแดนที่ชัดเจน ผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศ

เส้นเขตแดนที่ชัดเจนจะช่วยป้องกันและระงับความขัดแย้งตามชายแดนที่เกิดจากปัญหาเขตแดน ลดปัญหาสภาพการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศทั้งสอง ส่งเสริมให้สาธารณชนไทยโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่สามารถได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอื่น ๆ จากเสถียรภาพและความปลอดภัย และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศในบริเวณแนวชายแดนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าที่ดินจะถูกรุกราน หรือตกอยู่ในข้อจำกัดใด ๆ ที่มีสาเหตุจากข้อขัดแย้งระหว่างประเทศ

การมีเส้นเขตแดนที่ชัดเจน จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมาตรการควบคุมและป้องกันอาชญากรรมระหว่างประเทศ เช่น การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการปราบปรามการลักลอบขนค้ายาเสพติด อีกทั้งยังสร้างความชัดเจนในการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายทหาร ที่จะดำเนินการป้องกันและรักษาสิทธิประโยชน์ของประชาชนชาวไทยตามแนวชายแดน และผลประโยชน์ของชาติในด้านต่าง ๆ

ท่านประธานที่เคารพ

บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา จำนวน ๓ ฉบับ ที่เรียนเสนอขอความเห็นชอบของรัฐสภา หากได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา กระทรวงต่างประเทศก็จะแจ้งยืนยันฝ่ายกัมพูชาโดยช่องทางการทูตให้บันทึกการประชุมทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าวมีผลเพื่อให้กระบวนการเจรจาเรื่องเขตแดน และการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในกรอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ดำเนินต่อไปได้ อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งไทยและกัมพูชาที่จะระงับข้อพิพาทเขตแดนที่มีอยู่อย่างสันติวิธี และเพื่อที่จะให้การดำเนินงานสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการปรับเปลี่ยนให้พื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่แห่งความร่วมมือบนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค หรืออาเซียน ให้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

ท่านประธานที่เคารพ

โดยที่ยังมีพี่น้องประชาชนชาวไทยที่ยังมีความห่วงใยและข้อกังวลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลตระหนักความห่วงใยดังกล่าว รัฐบาลได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา จำนวน ๓๐ คน โดยมีสัดส่วนของวุฒิสภาจำนวน ๑๕ คน และสภาผู้แทนราษฎร ๑๕ คน เพื่อพิจารณาและศึกษาประเด็นที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันเพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน

ขอกราบขอบพระคุณครับท่านประธานครับ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ