รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค

ข่าวต่างประเทศ Monday November 15, 2010 07:53 —กระทรวงการต่างประเทศ

ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ นครโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยประเด็นสำคัญของการหารือสรุปได้ ดังนี้

(๑) การสนับสนุนเวทีการค้าพหุภาคี (Supporting multilateral trading system)

ที่ประชุมเห็นว่าเอเปคควรส่งสัญญาณทางการเมืองว่า ภายในปี ๒๕๕๔ จะต้องได้ข้อสรุปการเจรจาการค้ารอบโดฮา (Doha Round) เพราะมีความคืบหน้าที่เกิดขึ้นในกระบวนการหารือกลุ่มเล็กในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะต้องนำความเห็นได้พูดคุยกันในกลุ่มต่างๆ ดังกล่าวเข้าสู่เวทีการเจรจาอย่างเป็นทางการ ที่ประชุมจึงเห็นสมควรให้มีแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีเอเปคเป็นการเฉพาะในเรื่องพัฒนาการของการเจรจารอบโดฮา (Doha Development Agenda) เพื่อสนับสนุนกระบวนการเจรจาที่นครเจนีวาให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว

นอกจากนี้ สมาชิกเอเปคยังได้ยืนยันว่าจะไม่ออกมาตรการกีดกันทางการค้าใหม่ไปจนถึงปี ๒๕๕๖ และเห็นว่าความช่วยเหลือเพื่อการค้า หรือ Aid-for-Trade เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สมาชิกสามารถบรรลุการเจรจารอบโดฮาได้ รวมทั้งควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันทั้งในลักษณะความร่วมมือเหนือ-ใต้ (North-South) และความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South)

(๒) การดำเนินการตามเป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals)

ที่ประชุมเห็นชอบรายงานผลการประเมินเขตเศรษฐกิจต่อการบรรลุเป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรก มีเขตเศรษฐกิจเข้ารับการประเมินทั้งหมด ๑๓ เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ๕ เขตคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่สมัครใจเข้ารับการประเมิน อีก ๘ เขตคือ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ชิลี เปรู ฮ่องกง จีนไทเป มาเลเซีย และเม็กซิโก ซึ่งผลการประเมินของทุกเขตเศรษฐกิจที่เข้ารับการประเมินมีความคืบหน้าเป็นอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายโบกอร์หรือการลดอุปสรรคต่าง ๆ ทางการค้า ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนามีเป้าหมายการประเมินในปี ๒๕๖๓

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นพ้องว่า แม้ผลการประเมินจะมีความคืบหน้าแต่ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี การกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ เป็นต้น รัฐมนตรีได้มอบหมายเจ้าหน้าที่อาวุโสพิจารณาแนวทางการติดตามผลการดำเนินการในสาขาที่ต้องปรับปรุงต่อไป

(๓) แนวทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (Regional Economic Integration)

ในเรื่องแนวทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ประเด็นหลักที่ที่ประชุมหารือกันคือเรื่องความตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) โดยเห็นพ้องกันว่า FTAAP ควรดำเนินการนอกเวทีเอเปคโดยเอเปคมีบทบาทเป็นเวทีหารือและบ่มเพาะ (incubator) และโดยที่มีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีในลักษณะต่างๆ อยู่มากมายแล้วในภูมิภาค เช่น ความตกลงทวิ FTA ภาคีต่างๆ กรอบอาเซียน+๓ (EAFTA) อาเซียน+๖ (CEPEA) หรือ Transpacific Economic Partnership (TPP) ทั้งนี้ FTAAP ควรเป็นความตกลงการค้าเสรีแบบใหม่ที่ไม่จำกัดอยู่แค่การเปิดตลาด แต่ครอบคลุมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain Initiative (SCI) และการปรับปรุงความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business: EoDB) ด้วย เป็นต้น

(๔) ยุทธศาสตร์การเติบโตของเอเปค (APEC Leaders’ Growth Strategy)

ที่ประชุมได้เห็นชอบที่จะเสนอให้ที่ประชุมผู้นำให้ความเห็นชอบกับหลักการของยุทธศาสตร์การเติบโตของเอเปคที่จะมุ่งสร้างการเจริญเติบโตใน ๕ ลักษณะ ได้แก่ (๑) ความสมดุล (๒) ความเท่าเทียม (๓) ความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (๔) ความมีนวัตกรรม และ (๕) ความมั่นคง ซึ่งในการที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว สมาชิกเอเปคจะต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมภายในระบบของตนอย่างมาก ดังนั้น ความช่วยเหลือทางวิชาการ (ECOTECH) ที่ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถ (capacity building) จึงมีความสำคัญและนับเป็นจุดแข็งของเอเปค

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังจะช่วยรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และรับมือกับภัยคุกคามต่อการพัฒนา เช่น ภัยพิบัติ การขาดแคลนอาหาร โรคระบาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นด้วยว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของเอเปคว่าด้วยการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (APEC New Strategy on Structural Reform: ANSSR) จะเป็นกลไกที่จะช่วยให้สมาชิกปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลและเท่าเทียม โดยเน้นเรื่องการพัฒนาตลาดแรงงาน การฝึกอบรมแรงงาน การพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้สตรีและกลุ่มเปราะบางทางสังคม การพัฒนาตลาดการเงิน และการสร้างเครือข่ายรองรับทางสังคม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์

(๕) การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security)

ในเรื่องการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการหารือเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร โดยเน้นการลดอุปสรรคในการค้าสินค้าอาหาร ในโอกาสนี้ไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการมีบทบาทต่อการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศส่งออกผลผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก รวมทั้งเน้นถึงความเชื่อมโยงของผลกระทบจากภัยพิบัติที่มีต่อความมั่นคงทางอาหาร และการค้าสินค้าอาหารในภาพรวมด้วย

นอกจากนี้ เกี่ยวกับการจัดการกับภัยพิบัติ ไทยแจ้งที่ประชุมทราบถึงความพร้อมของไทยที่ให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์ฝึกอบรมการจัดการภัยพิบัติ โดยจะร่วมมือกับศูนย์ประสานงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (The ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management: AHA Centre) ที่อินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ประเทศผู้ประสบภัยด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ