เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๑๔.๓๐ น. มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดพิธีแถลงข่าวการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๓ ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น ๒ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ นายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสารนิเทศในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติและประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ พร้อมด้วยนายเคนเนท ฟอสเตอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายการทูตสาธารณะ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนายแบรดลี่ โจนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและการลงทุน สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๓ จำนวน ๗๒ ราย จาก ๓๑ ประเทศ โดยคณะกรรมการมูลนิธิฯ มีมติตัดสินให้ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิโคลัส เจ ไวท์ (Professor Nicholas J. White) และศาสตราจารย์นายแพทย์ เควิน มาร์ช (Professor Kevin Marsh) เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๓ สาขาการแพทย์ และศาสตราจารย์นายแพทย์ อนันดา เอส. ประสาด (Professor Ananda S. Prasad), ศาสตราจารย์นายแพทย์เคนเนท เอช. บราวน์ (Professor Kenneth H. Brown) และศาสตราจารย์นายแพทย์โรเบิร์ท อี. แบล็ค (Professor Robert E. Black) เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๓ สาขาการสาธารณสุข โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สาขาการแพทย์
ศาสตราจารย์นายแพทย์นิโคลัส เจ. ไวท์ (Professor Nicholas J. White) ประธานหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนเวลคัมทรัสต์ ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศาสตราจารย์เวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ได้ทุ่มเทตลอดระยะเวลากว่า ๒๕ ปี ศึกษาค้นคว้าวิธีรักษาโรคมาลาเรีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเขตระบาดของโรคมาลาเรียที่มีการดื้อยาอย่างมาก โดยมุ่งเน้นการใช้ยาสูตรผสมซึ่งมีตัวยากลุ่มอาเทมิซินิน (artemisinin) ร่วมกับยารักษามาลาเรียอีกชนิดหนึ่งเพื่อเพิ่มผลการรักษาและป้องกันการดื้อยาศาตราจารย์นายแพทย์นิโคลัส เจ. ไวท์ ได้รณรงค์ให้ใช้ยาสูตรผสมอาเทมิซินินรักษา (artemisinin-based combination therapies) อย่างกว้างขวางซึ่งองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับว่าเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญของโรคมาลาเรียและใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
ผลงานการพัฒนาวิธีการรักษาโรคมาลาเรียโดยใช้ยาสูตรผสมของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ นิโคลัส เจ. ไวท์ ที่ประกอบด้วยยาสองชนิดในเม็ดเดียวกันมีประสิทธิภาพสูง ทำให้อัตราการตายของผู้ป่วยลดลงอย่างเด่นชัด และสามารถป้องกันการดื้อยาได้ดี อีกทั้งการใช้ยาสะดวกและควบคุมขนาดยาได้ดี มีผลต่อการรักษาและควบคุมการระบาดของโรคมาลาเรียได้ทั่วโลก เป็นองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยต่อมวลมนุษยชาติอย่างกว้างขวาง
ศาสตราจารย์นายแพทย์ เควิน มาร์ช (Professor Kevin Marsh) ผู้อำนวยการโครงการวิจัยเวลคัม-เคมรี่ (Wellcome-KEMRI(Kenya Medical Research Institute) Research Programme) และศาสตราจารย์เวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร มีบทบาทสำคัญในการศึกษาด้านระบาดวิทยาภูมิคุ้มกันของโรคมาลาเรีย ปฏิบัติการส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา โดยศึกษาวิจัยการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะแอนติเจนของเชื้อมาลาเรีย พบว่าหลังจากที่มีการติดเชื้อมาลาเรียแล้วเชื้อยังมีการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ต่อไปได้อีก เป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาและพัฒนาวัคซีนในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงความหลากหลายของสายพันธุ์ของเชื้อด้วย
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์เควิน มาร์ช ยังเป็นคนแรกที่อธิบายว่าภาวะหายใจลำบากในผู้ป่วยมาลาเรีย บางรายอาจจะเกิดเนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย นำไปสู่การพัฒนาวิธีรักษาด้วยยาต้านแบคทีเรียร่วมกับยารักษามาลาเรีย ทั้งยังได้ศึกษาพบว่าภาวะหายใจลำบากและมาลาเรียขึ้นสมอง(Cerebral malaria) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญที่สุดของมาลาเรีย นำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาและดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการรุนแรง
ผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์ นิโคลัส เจ. ไวท์ และ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เควิน มาร์ช มีส่วนสำคัญในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อมาลาเรียและนำองค์ความรู้จากห้องปฏิบัติการไปสู่การรักษาและควบคุมโรคมาลาเรียซึ่งผลงานของทั้งสองท่านได้นำไปสู่วิธีการรักษาที่ใช้อย่างกว้างขวาง ลดอัตราการเสียชีวิตและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยที่เป็นโรคมาลาเรียหลายพันล้านคนทั่วโลก
สาขาสาธารณสุข
ศาสตราจารย์นายแพทย์ อนันดา เอส. ประสาด (Professor Ananda S. Prasad) ศาสตราจารย์เกียรติคุณภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวย์นเสตท รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นบุคคลแรกที่พบความสำคัญของธาตุสังกะสีต่อการเจริญ เติบโตและพัฒนาการของร่างกาย โดยในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้ตรวจพบผู้ป่วยขาดธาตุสังกะสีมีร่างกายแคระเกร็น มีการพัฒนาการในด้านต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาการทางเพศที่ล่าช้า พัฒนาการของกระดูกผิดปกติ โลหิตจาง ตับและม้ามโต เมื่อรักษาโดยการเสริมธาตุสังกะสีแล้ว ผู้ป่วยมีการเติบโตและพัฒนาการกลับมาดีขึ้น ทั้งในด้านความสูง น้ำหนัก พัฒนาการของกระดูกและพัฒนาการทางเพศ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสาด ได้ศึกษาวิจัยต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี แสดงให้เห็นว่าธาตุสังกะสีมีบทบาทสำคัญในการทำงานของเซลล์และระบบต่าง ๆ ของร่างกาย การขาดธาตุสังกะสีทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเนื่องจากร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง ผลการศึกษาของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสาด ได้กระตุ้นให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญและสนใจศึกษาธาตุสังกะสีต่อสุขภาพ ทำให้เด็กได้รับธาตุสังกะสีเสริมจำนวนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
ศาสตราจารย์นายแพทย์เคนเนท เอช. บราวน์ (Professor Kenneth H. Brown) ศาสตราจารย์ภาควิชาการโภชนาการ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ร่วมกับแพทย์หลายท่าน พบว่าการให้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็กสามารถช่วยลดความรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงและโรคปอดบวมซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกได้ สามารถลดอัตราการเกิดโรคอุจจาระร่วงลงร้อยละ ๒๗ และลดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างเฉียบพลันลงร้อยละ ๒๐ ส่วนเด็กที่ขาดสารอาหารต่อเนื่องเป็นเวลานานเมื่อได้รับธาตุสังกะสีเสริมจะมีอัตราการเจริญเติบโตและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น รวมทั้งการให้ธาตุสังกะสีเสริมขณะที่มารดาตั้งครรภ์จะทำให้เด็กทารกเกิดโรคอุจจาระร่วงลดลง
ศาสตราจารย์นายแพทย์เคนเนท เอช. บราวน์ ยังมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ระดับนานาชาติ เรื่องโภชนาการในเด็ก โดยเป็นประธานกลุ่มที่ปรึกษานานาชาติด้านโภชนาการสังกะสี (International Zinc Nutrition Consultative Group (iZiNCG) ) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๓ เพื่อส่งเสริมรณรงค์และช่วยลดภาวะการขาดธาตุสังกะสีทั่วโลก ทำให้ประชากรโลกกว่าร้อยละ ๒๐ ลดความเสี่ยงต่อการขาดธาตุสังกะสีได้
ศาสตราจารย์นายแพทย์โรเบิร์ท อี. แบล็ค (Professor Robert E. Black) หัวหน้าภาควิชาสาธารณสุขระหว่างประเทศ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์รัฐแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บุกเบิกการเสริมธาตุสังกะสีในโภชนาการเพื่อลดความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของเด็ก โดยศึกษาผลกระทบระยะยาวในเด็กที่เป็นโรคอุจจาระร่วงในประเทศบังคลาเทศ พบว่าเด็กเหล่านี้หากไม่ได้รับโภชนาการที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดวงจรอุบาท diarrhea-nutrition cycle กล่าวคือเมื่อมีโรคอุจจาระ ร่วง จะมีการดูดซึมสารอาหารลดลง ทำให้ขาดอาหารและธาตุอาหารสำคัญ และมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ส่งผลทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงอย่างเรื้อรัง เป็นวงจรต่อเนื่องกัน การศึกษานี้กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาวิธีให้สารอาหารที่เหมาะสมในขณะที่มีภาวะอุจจาระร่วงซึ่งช่วยลดอัตราการตายของเด็กลงได้มาก นอกจากนี้ยังพบว่าการให้ธาตุสังกะสีเสริมในระหว่างที่มีอาการท้องเดินเฉียบพลันจะช่วยลดความรุนแรงและการตายลง และการให้ธาตุสังกะสีเสริมระหว่างการรักษาโรคปอดบวมช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วยลงได้
ผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์โรเบิร์ต อี. แบล็ค ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(ยูนิเซฟ) นำไปแนะนำวิธีการให้อาหารและการเสริมธาตุสังกะสีแก่เด็กที่ป่วยโรคอุจจาระร่วง นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์โรเบิร์ท อี. แบล็ค ยังมีบทบาทระดับโลกในการส่งเสริมและผลักดันด้านนโยบายเกี่ยวกับการให้ธาตุสังกะสีเสริม ซึ่งมีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง ส่งผลในการลดอัตราการตายของเด็ก และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กทั่วโลก
ผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์อนันดา เอส. ประสาด, ศาสตราจารย์นายแพทย์เคนเนท เอช. บราวน์ และศาสตราจารย์นายแพทย์โรเบิร์ท อี. แบล็ค เป็นความเกี่ยวเนื่องกัน นำไปสู่การประยุกต์ให้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็ก ทำให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของเด็กหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ก่อตั้งขึ้นในวโรกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ครบ ๑๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ซึ่งรางวัลดังกล่วจะมอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ บุคคลหรือสถาบันทั่วไปสามารถเสนอชื่อและผลงานของบุคคลหรือองค์กรให้คณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ คัดเลือกเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลประจำปี ซึ่งมี ๒ สาขา ได้แก่ รางวัลสาขาการแพทย์และสาขาการสาธารณสุข โดยแต่ละรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล รางวัลละ ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วรวมทั้งสิ้น ๕๔ ราย ในจำนวนนี้ มี ๒ ราย ที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ แบรี่ มาร์แชล ปี ๒๕๔๘ และศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ฮาร์ลด์ ซัวร์ เฮาเซน ปี ๒๕๕๑ และมีผู้ได้รับรางวัลซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ๑ รายคือ แพทย์หญิงมากาเร็ต เอฟซี ชาน ปี ๒๕๔๙ ทั้งนี้ มีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ๔ ราย คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ ปี ๒๕๓๙ และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร และนายมีชัย วีระไวทยะ ปี๒๕๕๒
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--