รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปาฐกถา เรื่อง นโยบายการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน

ข่าวต่างประเทศ Monday November 29, 2010 07:45 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง แผนการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Connectivity) ณ โรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของการเชื่อมโยงในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงพัฒนาการการตรวจลงตราของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ก่อให้เกิดความสะดวกสบายในการไปมาหาสู่ระหว่างผู้คนในภูมิภาคยุโรป โดยถือเป็นการเติมเต็มสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของผู้คน (freedom of traveling) ซึ่งประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงดังกล่าว และได้มีบทบาทในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในภูมิภาคอย่างแข็งขัน เช่น ความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue — ACD) การประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia — CICA) และองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organisation for Security and Cooperation in Europe — OSCE) รวมถึงกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในอนุภูมิภาค เช่น ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation — BIMSTEC) เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนจากความคิดริเริ่มของไทยช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีที่ผ่านมาได้เริ่มเป็นรูปธรรมในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๗ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนมีมติเห็นชอบแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค เช่น เส้นทางคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ระบบ ICT และพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงการลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกเก่า ๖ ประเทศกับประเทศสมาชิกใหม่ ๔ ประเทศ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) อันจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยมีจีนและอินเดียเป็นคู่แข่งสำคัญรายใหม่ในภูมิภาค ทั้งนี้ ไทยในฐานะประเทศผู้ให้รายใหม่มีหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่น ๆ เช่น สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ภายใต้กระทรวงการคลัง ดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย

รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวว่า นอกเหนือจากการลงทุนจากภาครัฐในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละประเทศ เช่น งบประมาณกว่า ๖๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เป็นต้น แล้วนั้น ภาคเอกชนก็สามารถเข้ามาร่วมลงทุนพร้อมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank — ADB) ธนาคารโลก (World Bank — WB) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social for Asia and the Pacific — ESCAP) ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคได้อีกด้วย รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เน้นว่า นอกเหนือจากการเชื่อมโยงในภูมิภาค ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนกับประเทศอื่น ๆ เช่น อนุทวีปอินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง missing links ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ ประเทศในภูมิภาคยังมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาพิธีการทางศุลกากร ให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างกันและจากภายในภูมิภาคสู่ประเทศภายนอกด้วย

รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และการทุจริต โดยในส่วนของไทยควรจะมีการดำเนินการอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นปราการด่านหน้าของประเทศ เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานตำรวจตระเวนชายแดน และกรมศุลกากร เพื่อขจัดปัญหาด้านการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การค้าอวัยวะของมนุษย์ การค้าพืชต้องห้าม และการค้าสัตว์สงวน ในภูมิภาค นอกจากนี้ ได้ย้ำถึงความจำเป็นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องชำระประวัติศาสตร์ของภูมิภาค เพื่อลบล้างความเกลียดชังระหว่างกัน และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างประชาชนในภูมิภาคด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ