เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ นายมาร์ก อุนเกฮอยเออร์ เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่ออำลาในโอกาสพ้นหน้าที่ในประเทศไทย โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่เอกอัครราชทูตฯ ในวันเดียวกัน ณ กระทรวงการต่างประเทศ
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีแก่นายอุนเกฮอยเออร์ ในโอกาสที่นายอุนเกฮอยเออร์ จะรับหน้าที่ใหม่ในตำแหน่งเอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำสิงคโปร์ในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ โดย นายอุนเกฮอยเออร์ได้กล่าวขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีในการก่อตั้งสถานเอกอัครราชทูตฯ ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างไทยและลักเซมเบิร์กให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นายอุนเกฮอยเออร์ยังได้กล่าวเกี่ยวกับประสบการณ์ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตฯ ว่าเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญของความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ รวมถึงมีการเยือนไทยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ลักเซมเบิร์กหลายครั้ง อาทิ การเยือนไทยของนาย Jeannot Kreck? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศลักเซมเบิร์ก เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี ๒๕๕๒ และการเยือนไทยของนาย Jean Asselborn รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลักเซมเบิร์ก ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๒
สำหรับประเด็นหารือด้านทวิภาคีอื่น ๆ นั้น ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านการจัดระเบียบการเงินระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและลักเซมเบิร์กเพื่อส่งเสริมการขยายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนของทั้งสองประเทศและการพัฒนาระบบการเงินการลงทุนให้มีความโปร่งใส เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความเห็นว่าไทยจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับองค์ความรู้และแนวปฏิบัติด้านการบริหารกองทุนและการจัดระเบียบการเงิน ซึ่งเป็นสาขาที่ลักเซมเบิร์กมีความชำนาญ เนื่องจากไทยต้องการส่งเสริมความสามารถของประเทศในการเป็นศูนย์กลางทางด้านการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก-เฉียงใต้ ในส่วนของการส่งเสริมให้นักธุรกิจชาวไทยไปลงทุนในลักเซมเบิร์กนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวว่า แม้นักธุรกิจไทยจะเดินทางไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น แต่เนื่องจากยังไม่มีความคุ้นเคยเกี่ยวกับประเทศยุโรปในแถบดังกล่าว จึงอาจต้องมีศูนย์กลางในการบริหารจัดการการลงทุน โดยนายอุนเกฮอยเออร์ได้กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากความชำนาญในสาขาดังกล่าวแล้ว ลักเซมเบิร์กยังเป็นประเทศศูนย์กลางทางด้านข้อมูลสื่อสารของภูมิภาค ซึ่งเหมาะแก่การเข้าไปดำเนินการลงทุนของนักธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้กล่าวว่าไทยและลักเซมเบิร์กควรขยายความร่วมมือในด้านการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยท่าอากาศยานของลักเซมเบิร์กได้รับการจัดเป็นอันดับ ๕ ในสาขาดังกล่าว
ในส่วนของความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างลักเซมเบิร์กกับประเทศอนุภูมิภาค โดยเฉพาะลุ่มน้ำโขงนั้น นายอุนเกฮอยเออร์ได้กล่าวว่าได้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ลาวในกรอบการพัฒนา โดยเน้นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องร่วมกันในการส่งเสริมจำนวนนักท่องเที่ยว
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--