สมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ ๖๕ รับรองร่างข้อมติเรื่อง ข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง

ข่าวต่างประเทศ Thursday January 13, 2011 07:15 —กระทรวงการต่างประเทศ

สมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ ๖๕ รับรองร่างข้อมติเรื่อง ข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง

เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ ๖๕ ได้รับรองร่างข้อมติเรื่องข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders หรือเรียกโดยย่อว่า ข้อกำหนดกรุงเทพฯ - Bangkok Rules) โดยฉันทามติ

ข้อกำหนดดังกล่าวถือเป็นความริเริ่มของประเทศไทยภายใต้โครงการ “Enhancing Lives of Female Inmates: ELFI” ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังหญิงเป็นการเฉพาะ ซึ่งสตรีเหล่านี้ควรได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติอย่างเหมาะสมด้วยมาตรฐานที่เหมาะสมขณะอยู่ในเรือนจำ จึงได้ทรงมีพระดำริให้กระทรวงยุติธรรมยกร่างข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิง เพื่อเสนอสหประชาชาติรับรองใช้เป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการผลักดันร่างข้อมติเรื่องข้อกำหนดฯ ให้เป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิกสหประชาชาติผ่านเวทีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะ ๆ จนได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ในการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๖๕ โดยก่อนหน้านี้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในงานเปิดนิทรรศการ ELFI และประทานเลี้ยงรับรองให้แก่คณะทูตานุทูตและเลขาธิการสหประชาชาติ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๓ และได้ทรงมีพระดำรัสเปิดนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโครงการ ELFI และข้อกำหนดดังกล่าวด้วย

ข้อกำหนดกรุงเทพฯ ฉบับนี้ ถือเป็นข้อกำหนดฉบับแรกของสหประชาชาติที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำซึ่งสามารถใช้อ้างอิงในการปรับปรุงกฎหมายภายใน/กฎระเบียบด้านราชทัณฑ์ที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงในประเทศต่าง ๆ ในโอกาสต่อไป ถือเป็นบทบาทเชิงรุกที่สำคัญของไทยในการส่งเสริมให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระบบยุติธรรมทางอาญาของผู้ต้องขังหญิงและบุตรติดผู้ต้องขังหญิงทั่วโลก ตามคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ให้ไว้กับประชาคมโลก อีกทั้งยังเป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ELFI และทรงทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะจนประสบผลสำเร็จในการสนับสนุนให้ข้อกำหนดกรุงเทพฯ ได้รับการยอมรับในเวทีสหประชาชาติในที่สุด

ทั้งนี้ สหประชาชาติได้ถือว่าข้อมติเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพฯ เป็นผลสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่งของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยนี้ด้วย โดยเห็นว่าข้อกำหนดกรุงเทพฯ จะช่วยคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ต้องขังหญิง ตั้งแต่การจำแนกลักษณะและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่มีลักษณะพิเศษแต่ละประเภท การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย การดูแลสุขภาพที่เป็นความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง และการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง รวมถึงการดูแลบุตรที่ติดผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ ทั้งนี้ โดยที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มข้อกำหนดกรุงเทพฯ ผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำของไทยจึงควรได้รับประโยขน์จากข้อกำหนดดังกล่าวด้วยเป็นอันดับแรก โดยประเทศไทยจะเดินหน้าปรับปรุงสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำทั่วประเทศอย่างจริงจังเพื่อให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ และเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งจะส่งเสริมและสนับสนุนข้อกำหนดกรุงเทพฯ ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างแพร่หลายเพื่อประโยชน์ของผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ