เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์กรณีคนไทย ๗ คน

ข่าวต่างประเทศ Friday January 21, 2011 13:53 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา และการให้ความช่วยเหลือกรณีคนไทย ๗ คนที่ถูกจับกุม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๔ ทนายความชาวกัมพูชาได้พยายามยื่นขอประกันตัวนายวีระ สมความคิด แต่เนื่องจากศาลกัมพูชายังติดภารกิจอื่นอยู่ จึงยังไม่สามารถรับคำร้องขอประกันตัวได้ แต่เมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ ทนายความชาวกัมพูชาได้เข้าไปยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลสูงสุดของกัมพูชาแล้ว และคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่ต่างจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

๒. สำหรับการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ นั้น รัฐมนตรีของทั้งสองกระทรวงได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการที่ผ่านมาให้นายกรัฐมนตรีทราบ และขอรับแนวนโยบายจากนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินการต่อไป โดยหลักพื้นฐานคือ ให้คนไทยกลับสู่ประเทศไทยโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ศาลกัมพูชาได้ยืนยันแล้วว่าจะมีการพิพากษาคดีคนไทย ๗ คน ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการหารือกันเพื่อหาแนวทางที่จะให้มีการพิพากษาคดีได้เร็วขึ้นกว่านี้

๓. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีแล้ว จะมีการขอพระราชทานอภัยโทษ หรือการโอนตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า คงต้องมีการพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชาก่อน โดยทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามจังหวะเวลา และการจะพิจารณาแนวทางทั้งหมดนี้ได้ต้องรอให้การพิพากษาคดีถึงที่สุดก่อนและดูว่าผลการพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไร โดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมก็พยายามเจรจาผ่านช่องทางที่มีอยู่ ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยกับกัมพูชาจะมีสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษระหว่างกัน แต่ก็ยังมีขั้นตอนต่าง ๆ ในการโอนตัวนักโทษ ดังนั้น เมื่อทราบคำพิพากษาแล้ว จึงต้องพิจารณาอีกว่าจะเข้าข่ายตามสนธิสัญญาฯ หรือไม่ และแม้จะเข้าข่ายก็ยังมีเรื่องของระยะเวลาในการรับโทษอีก จึงยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงเรื่องนี้

๔. เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ ยืนยันว่า สถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชายังปกติ และกรณีคนไทย ๗ คนจะไม่กระทบกับการเจรจาเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคณะกรรมาธิการจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ดำเนินการอยู่แล้ว โดยมีอดีตเอกอัครราชทูตอัษฎา ชัยนาม เป็นประธาน JBC ฝ่ายไทย ซึ่งขณะนี้บันทึกการประชุม JBC ทั้ง ๓ ฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา นอกจากนี้ บันทึกการประชุม JBC ยังถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วยว่าเข้าข่ายมาตรา ๑๙๐ หรือไม่ อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้ การประชุม JBC ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลการประชุม JBC ๓ ครั้งที่ผ่านมาก็น่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้

๕. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวว่า กรณีฝ่ายกัมพูชาก่อสร้างแผ่นป้ายหินที่บริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสะวาราจะส่งผลกระทบต่อการให้ความช่วยเหลือคนไทย ๗ คนหรือไม่นั้น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี คงต้องทำความเข้าใจกับฝ่ายกัมพูชาว่า เรื่องใด ๆ ที่เกิดขึ้นและอาจส่งผลกระทบกับกรณีคนไทย ๗ คนก็ขอให้มีการพูดคุยกันในระดับพื้นที่

๖. กรณีนายการุณ ใสงาม ให้สัมภาษณ์หลังจากเข้าเยี่ยมนายวีระ สมความคิด ว่า นายวีระฯ ระบุว่า พื้นที่ที่ถูกจับกุมเป็นดินแดนของประเทศไทย ซึ่งสวนทางกับแนวทางของทนายความชาวกัมพูชา จะทำให้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือยากขึ้นหรือไม่นั้น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า คนไทยทั้ง ๗ คนไม่มีใครทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นดินแดนของใคร และไม่มีเจตนาที่จะเข้าไปในดินแดนของกัมพูชา แต่เป็นการเข้าไปในพื้นที่เพื่อหาหลักเขตแดนที่ ๔๖ เท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในพื้นที่ จนนำไปสู่การจับกุม และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทราบ ทำให้คนไทยทั้งหมดถูกส่งตัวไปยังกรุงพนมเปญ

๗. ในชั้นนี้ ยังไม่ได้รับรายงานว่าการพิพากษาคดีในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จะเป็นไปในลักษณะใด เท่าที่ทราบคือ คนไทย ๕ คน จะถูกพิพากษาใน ๒ ข้อหา และอีก ๒ คน จะถูกพิพากษาใน ๓ ข้อหา

๘. รัฐบาลไทยเคารพกระบวนการของศาลกัมพูชา อย่างไรก็ดี หวังว่าศาลกัมพูชาจะพิจารณาเลื่อนวันพิพากษาคดีให้เร็วขึ้นได้ โดยรัฐบาลไทยได้มีความพยายามประสานผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ด้วยแล้ว

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ