รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือทวิภาคีนอกรอบการประชุม BIMSTEC

ข่าวต่างประเทศ Monday January 24, 2011 13:06 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๔ ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ ๑๓ณ นครเนปิดอว์ สหภาพพม่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบปะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศต่าง ๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบความร่วมมือ BIMSTEC สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

๑. ในการหารือกับนายญาน วิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำถึงความประสงค์ของอาเซียนที่จะเห็นกระบวนการปรองดองแห่งชาติของพม่าพัฒนาต่อไป โดยประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเฉพาะไทย พร้อมที่จะให้การสนับสนุน ในส่วนของผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าที่อยู่ในพื้นที่พักพิงในประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการฯ แจ้งว่าฝ่ายไทยมีดำริที่จะเข้าไปบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศจะได้หารือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปดูแลทั้งในประเด็นความมั่นคง การยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงการสาธารณสุขและการศึกษาของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางกลับพม่าในอนาคตเมื่อสถานการณ์อำนวยด้วย

๒. ในการหารือกับนางปรีณีต คอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ขอบคุณอินเดียที่ได้เชิญนายกรัฐมนตรีเยือนอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ ซึ่งในการนี้ ฝ่ายอินเดียย้ำถึงความสำคัญที่อินเดียให้กับประเทศไทยและอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าการเยือนดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือให้ใกล้ชิดมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความยินดีที่จะมีการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ที่เมือง Bangalore ประเทศอินเดีย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวว่า โดยที่ประเทศสมาชิก BIMSTEC ทั้งหลายได้นำเข้าพลังงานสุทธิ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ หากศูนย์ดังกล่าวเน้นการค้นคว้าวิจัยพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน โดยฝ่ายไทยสนใจที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ของอินเดีย ซึ่งเพิ่งได้มีการจัดตั้งกระทรวงพลังงานหมุนเวียนเป็นการเฉพาะเมื่อเร็ว ๆ นี้

๓. ในการหารือกับนายนีโอมาล เปเรรา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความเสียใจต่อสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้มอบสารแสดงความเสียใจจากนายกรัฐมนตรีถึงประธานาธิบดีศรีลังกาและเงินช่วยเหลือจำนวน ๑ แสนดอลลาร์สหรัฐเพื่อแสดงไมตรีจิตต่อศรีลังกา ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ในนามของประธานาธิบดีและประชาชนชาวศรีลังกาได้กล่าวขอบคุณความช่วยเหลือของฝ่ายไทย ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ ในโอกาสเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะเข้าไปมีบทบาทในการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานในศรีลังกา ซึ่งฝ่ายศรีลังกามีความต้องการสูงภายหลังการสิ้นสุดความขัดแย้งภายในประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นวัฒนธรรมและศาสนา โดยย้ำว่าจะเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมการติดต่อระดับประชาชนต่อประชาชน ซึ่งฝ่ายศรีลังกาได้แสดงความหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปศรีลังกามากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากจะมีการเฉลิมฉลองครบรอบ ๒,๖๐๐ ปีของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

๔. ในการหารือกับนายเลียนโป เยเชย์ ซิมบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์และรัฐมนตรีที่ดูแลการต่างประเทศภูฏาน ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ โดยเฉพาะความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาที่ไทยได้ให้กับภูฏาน นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความสนใจที่จะมีความร่วมมือกับภูฏานในเรื่องการเรียนแพทย์แผนโบราณและยาสมุนไพร โดยอาจจะมีการค้นคว้าวิจัยร่วมกันเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพื่อนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้ในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงแนวคิดของอดีตกษัตริย์ภูฏานเรื่องดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness — GNH) และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งแนวทางทั้งสองสะท้อนถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องความพอดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า ๔ พันกว่าโครงการในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การพัฒนาชนบท การพัฒนาชลประทาน หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายควรศึกษาความเป็นไปได้ในการนำแนวทางการพัฒนาทั้งคู่มาใช้เป็นแบบอย่างและกรณีศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศอื่น ๆ

ในเรื่อง BIMSTEC นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้หารือกับหัวหน้าคณะต่าง ๆ ข้างต้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกประเทศสมาชิก เนื่องจากแต่ละประเทศมีทรัพยากรที่จำกัดและเพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนเนื่องจากแต่ละประเทศเป็นประเทศสมาชิกของกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ด้วย ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เสนอว่า BIMSTEC น่าจะเน้นความสำคัญของความร่วมมือของการพัฒนาระบบขนส่งทางทะเลในอ่าวเบงกอล รวมถึงการพัฒนาท่าเรือและความเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งทางบกไปยังประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล เช่น เนปาล และภูฏาน ความร่วมมือทางด้านการประมง พลังงาน การบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า เป็นต้น นอกจากนี้ โดยที่ประเทศสมาชิกต่าง ๆ กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เสนอว่า BIMSTEC ควรส่งเสริมหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนด้วย รวมทั้งความร่วมมือทางด้านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนา (Interfaith Dialogue) ด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ