รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Monday January 31, 2011 07:47 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงต่อสื่อมวลชนกรณีที่ในช่วงที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่อราชอาณาจักรกัมพูชา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ตนเป็นข้าราชการ นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว จนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตนทำงานอยู่บนความถูกต้อง ความมีเหตุมีผล และยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ขณะนี้ตนเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีหน้าที่ต้องทำตามนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะโอนอ่อนไปตามกระแสเรียกร้องต่าง ๆ ไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับมิติของความเป็นไปในประเทศไทยที่มีพันธกรณีระหว่างประเทศ ความเป็นไปในประเทศกัมพูชา และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเอง ดังนั้น การจะดำเนินการใด ๆ ในเชิงนโยบายจึงต้องพิจารณาถึงมิติเหล่านี้ด้วย โดยทั่วไปการดำเนินนโยบายต่างประเทศมีทางเลือก ๓ ทาง ได้แก่ (๑) ทั้งสองประเทศไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกัน เป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ (๒) มีความสัมพันธ์ที่ดี มีการไปมาหาสู่ระหว่างกัน และพยายามสร้างสันติสุขและความมั่งคั่งในพื้นที่ และ (๓) การเผชิญหน้ากันของกองกำลัง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ และรัฐบาลนี้เลือกที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงฯ มาโดยตลอด และหากมีข้อขัดแย้งใด ๆ กับประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องใช้วิธีการเจรจาในฐานะมิตรประเทศที่มีพรมแดนอยู่ติดกัน

๒. ประเทศไทยและกัมพูชามีพันธกรณีในกรอบของอาเซียนที่ต้องการสร้างประชาคมอาเซียนภายใน ปี ค.ศ. ๒๐๑๕ และมีกรอบความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration) ที่ประเทศสมาชิกก่อตั้งอาเซียนจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ ๔ ประเทศ (พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนา ดังนั้น จึงไม่ควรสร้างความตึงเครียดบริเวณชายแดนและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าของกองกำลัง โดยมีเป้าหมายคือการอยู่ร่วมกันอย่าง “ไร้พรมแดน” นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีพันธกรณีต่อ กฎบัตรสหประชาชาติในอันที่จะสร้างความเจริญมั่งคั่ง ความมั่นคง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และมีบทบัญญัติให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน (South-South Cooperation)

๓. ประเทศไทยมุ่งที่จะให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาทั้งด้านการสร้างถนน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา การส่งเสริมความร่วมมือด้านประเพณีและวัฒนธรรม และสื่อมวลชนสัมพันธ์ รวมทั้งจะมีงานแสดงสินค้าของจังหวัดชายแดนของทั้งสองประเทศด้วย ซึ่งเมื่อประเทศกัมพูชามีความมั่งคั่งแล้ว ปัญหาเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติก็จะลดน้อยลง นอกจากนี้ ทั้งคนไทยและคนกัมพูชาคงอยากมีความภูมิใจว่าในอนาคตข้างหน้านี้ ประเทศต่าง ๆ จะสามารถมีการไปมาหาสู่กันได้อย่างเสรีและมีความเสมอภาคกัน

๔. สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่มีการบริโภคภายในประเทศกัมพูชา ประมาณร้อยละ ๖๐-๗๐ เป็นสินค้าที่มาจากประเทศไทย นอกจากนี้ คนกัมพูชายังเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ คนต่อปี ขณะที่คนไทยเดินทางไปกัมพูชาประมาณ ๔๐,๐๐๐ คนต่อปี และยังมีผู้ประกอบการของไทยในกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ผลประโยชน์ของประชาชนบริเวณชายแดน รวมทั้งโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในทะเล จึงอยู่ที่วิธีการดำเนินนโยบายที่จะตั้งใจแก้ปัญหากันไปด้วยความอดกลั้นและผ่านการหารือกัน ซึ่งหากสามารถเจรจากันด้วยสันติวิธี ทั้งไทยและกัมพูชาก็จะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองประเทศ ส่วนในเรื่องของเขตแดน ก็มีคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) เป็นกรอบในการเจรจาอยู่ และมีคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-กัมพูชาเป็นกรอบในการดำเนินความสัมพันธ์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ จะเข้าร่วมการประชุม JC ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ ๗ ระหว่างวันที่ ๓-๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ประเทศกัมพูชาด้วย

๕. ต่อข้อเรียกร้องให้มีการผลักดันชาวกัมพูชาออกจากประเทศไทยนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ภาคเศรษฐกิจในประเทศไทยเอง เช่น จังหวัดจันทบุรี ตราด และระนอง ต้องอาศัยแรงงานชาวกัมพูชาในการทำประมง เก็บผลไม้ และงานบริการ เป็นจำนวนมาก แรงงานชาวกัมพูชาจึงมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันว่าหากผลักดันแรงงานชาวกัมพูชาเหล่านั้นออกไปแล้ว ประเทศไทยก็จะประสบปัญหาแรงงานไม่เพียงพอ ส่วนปัญหาเรื่องของการจัดระบบแรงงานต่างชาติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ต้องหารือกัน เพื่อจัดให้ระบบมีความโปร่งใส ลดปัญหาเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ และการค้ามนุษย์

๖. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี ๒๕๔๓ (MOU ปี ๒๕๔๓) เพราะหากยกเลิกแล้ว ก็จะไม่มีกรอบใด ๆ ที่ใช้ในการเจรจาได้ ทั้งนี้ เคยแจ้งให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ทราบแล้วหลายครั้งว่า ท่าทีของไทยคือ ไม่ยอมรับแผนที่ระวางดงรัก และอดีตเอกอัครราชทูตอัษฎา ชัยนาม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ฝ่ายไทย ก็เพิ่งเดินทางไปประเทศกัมพูชา จึงควรปล่อยให้กระบวนการสามารถดำเนินการไป การจะใช้กำลังเข้าปะทะกันเป็นเรื่องที่ล้าสมัยและควรเป็นวิธีการสุดท้าย ซึ่งหากเกิดการปะทะจริง ประเทศสมาชิกอาเซียนและสหประชาชาติคงเข้ามาแทรกแซง ดังนั้น จึงขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทน เพราะการเจรจาเขตแดนต้องใช้เวลานาน หลายประเทศในโลกที่มีชายแดนติดกันก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน เป็นเรื่องปกติของการทำงานเขตแดน

๗. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่สามารถปฏิบัติตามที่กลุ่ม พธม. เรียกร้องให้ประเทศไทยถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลกได้ โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสุโขทัยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก ดังนั้น การจะถอนตัวออกจากคณะกรรมการมรดกโลกจะส่งผลกระทบต่อสถานะมรดกโลกของสถานที่ในประเทศไทยหลายแห่งด้วย ซึ่งไม่ว่ากลุ่มการเมืองใด ๆ ก็ไม่น่ามีสิทธิบังคับชาวจังหวัดอยุธยาหรือสุโขทัย นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายจังหวัดในประเทศไทยที่ประสงค์จะให้โบราณสถานในจังหวัดของตนได้จดทะเบียนขึ้นเป็นมรดกโลก อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจที่ทั่วโลกได้รู้จักกับวัฒนธรรมของไทย เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และนำมาซึ่งความช่วยเหลือในการบำรุงรักษาและบูรณะสถานที่สำคัญ ๆ เหล่านั้น

๘. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ควรถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมืองภายใน และแม้ว่ากลุ่ม ต่าง ๆ อาจมีความคิดและความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ควรนำมาเป็นประเด็นที่จะทำให้ประเทศไทยต้องขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน

๙. สำหรับกรณีการให้ความช่วยเหลือแก่นายวีระ สมความคิด ที่ถูกจับกุมอยู่ที่ประเทศกัมพูชา รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ระหว่างการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (JC) จะขออนุญาตเข้าเยี่ยมนายวีระฯ ที่เรือนจำด้วย และอยากจะขอความร่วมมือครอบครัวของนายวีระฯ ให้ช่วยโน้มน้าวนายวีระฯ โอนอ่อนให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทนายความชาวกัมพูชา เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือนายวีระฯ และนำตัวกลับมาประเทศไทยได้โดยเร็ว ทั้งนี้ เมื่อนายวีระฯ กลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ค่อยมาช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ