เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๔ ที่กรุงย่างกุ้ง รัฐมนตรีว่าการฯ ได้พบกับนางออง ซาน ซูจี ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ มีความเห็นว่า เป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จึงรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบ และได้หารือกันในประเด็นเรื่องการเสริมสร้างประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติของประเทศพม่า โดยนางออง ซาน ซูจี ฝากผ่านรัฐมนตรีว่าการฯ ให้ช่วยดูแลคนพม่าที่ถูกจำคุกอยู่ที่ประเทศไทย รวมไปถึงผู้หนีภัยการสู้รบ จากพม่าด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
๒. ต่อข้อซักถามของสื่อมวลชนถึงประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยกันกับนางออง ซาน ซูจี รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า โดยหลักการคือ ต้องการให้มีความสงบตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า จึงได้มีการเจรจากับชนกลุ่มน้อย โดยฝ่ายไทยยืนยันท่าทีที่จะไม่ให้กองกำลังของชนกลุ่มน้อยเข้ามาใช้พื้นที่ประเทศไทยเป็นที่พักพิงกองกำลัง และอยากให้ชนกลุ่มน้อยยุติการสู้รบและหันมาเจรจากับรัฐบาลพม่า ขณะเดียวกันรัฐบาลพม่าก็ไม่ควรเปิดฉากการสู้รบในขณะนี้ นอกจากนี้ เกี่ยวกับการพัฒนาคนพม่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่าทั้ง ๙ พื้นที่นั้น รัฐบาลไทยจะช่วยพัฒนาทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และการฝึกทักษะวิชาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนกลุ่มนี้ในการนำเอาความรู้กลับไปร่วมสร้างประเทศชาติ เมื่อสถานการณ์สงบลงแล้ว มีกระบวนการปรองดองแห่งชาติ และมีรัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยทั้งนี้ ในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔ จะมีการประชุมสภาใหม่ของพม่า มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งน่าจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ๒๕๕๔
๓. ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เห็นพ้องกันที่จะช่วยกันประคับประคองและส่งเสริมการปรองดองแห่งชาติของพม่า และสังคมประชาธิปไตยใหม่ของพม่า รวมทั้งจะให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนา ด้านมนุษยธรรม และเรียกร้องให้ประเทศตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรประเทศพม่า และไม่เห็นด้วยที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการตรวจหาความจริงเพื่อพิจารณากรณีความรับผิดชอบของผู้นำพม่า เพราะถือว่าเป็นเรื่องภายในของพม่า และพม่าก็มีกระบวนการของตนเอง อีกทั้งมีกฎบัตรอาเซียน คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกฎบัตรสหประชาชาติเป็นกลไกในการแก้ปัญหาอยู่แล้ว ประเทศอื่น ๆ จึงไม่ควรเข้ามาแทรกแซง
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--