การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ ๗

ข่าวต่างประเทศ Friday February 4, 2011 08:26 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจากการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ ๗ ว่า การประชุมในช่วงเช้าแบ่งเป็น ๓ กลุ่มย่อย ได้แก่ (๑) การเมืองและความมั่นคง (๒) เศรษฐกิจ และ (๓) สังคมและวัฒนธรรม โดยบรรยากาศของการประชุมโดยรวมเป็นไปด้วยดีโดยเห็นได้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความกระตือรือร้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและเจตนารมย์ที่จะผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก้าวไปข้างหน้าและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไป

สำหรับการประชุมในกลุ่มการเมืองและความมั่นคง ปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า ฝ่ายกัมพูชาก็เข้าใจดีถึงกระบวนการภายในของประเทศไทยดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เคยบอกกับนายกรัฐมนตรีไทยระหว่างการพบปะกันเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๓ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ฝ่ายกัมพูชาก็ไม่ได้ทวงถามใด ๆ แต่ฝ่ายไทยก็ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงพัฒนาการ ทั้งนี้ฝ่ายกัมพูชาหวังว่าการพิจารณาของรัฐสภาจะแล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อที่คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(เจบีซี)ไทย-กัมพูชาจะได้ทำงานร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังหารือถึงความร่วมมือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนต่าง ๆ เช่น ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นธรรมดาของประเทศที่มีชายแดนติดกัน

นอกจากนี้ ในส่วนของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมฯ ได้พูดถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวภายใต้ปฏิญญาพุกามเพื่อมุ่งสู่การมี “Five Countries, One Destination” ซึ่งประเทศไทยและกัมพูชาเป็นประเทศนำร่องในการดำเนินการดังกล่าว โดยได้มีความตกลงระหว่างกันภายใต้ “Two Countries, One Destination” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการจะเดินทางมายังประเทศไทยหรือกัมพูชาให้สามารถยื่นเอกสารเพื่อขอรับการตรวจลงตราจากประเทศใดก็ได้ โดยที่อำนาจการอนุมัติยังคงอยู่ที่เจ้าของประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดงานแสดงสินค้าไทยที่กรุงพนมเปญระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ

สำหรับความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญที่สุด คือ เรื่องของการศึกษา โดยฝ่ายกัมพูชาสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้การสนับสนุนการศึกษาแก่คนกัมพูชา ทั้งด้านพื้นฐานและอาชีวะที่จังหวัดกัมปงธม ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของสังคมและเยาวชนชาวกัมพูชา และยังทรงพระกรุณาขยายการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาไปจนถึงปี ๒๕๕๖ นอกจากนี้ ฝ่ายกัมพูชายังขอบคุณประเทศไทยที่ให้ความช่วยเหลือเป็นทุนการศึกษาแก่ชาวกัมพูชา โดยเป็นทุนการ ศึกษาระยะสั้นจำนวน ๓๐๐ ทุน และทุนระดับปริญญาโทอีก ๑๕ ทุน ซึ่งทุนการศึกษาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงในระดับของประชาชนให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน

ปลัดกระทรวงฯ กล่าวอีกว่า ฝ่ายกัมพูชายังได้ขอบคุณประเทศไทยที่จัดการแก้ไขปัญหาแรงงานที่เคยผิดกฎหมายให้มาเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายถึงกว่า ๒๖,๐๐๐ คน นอกจากนี้ ยังสามารถออกหนังสือสำคัญประจำตัว (CI) ให้คนกัมพูชาได้กว่า ๘๐,๐๐๐ คน ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานกัมพูชาเหล่านี้ดีขึ้นและไม่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (UNHRC) และยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ในโอกาสนี้ ฝ่ายกัมพูชายังขอเพิ่มโครงการความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขอีกด้วย

ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวว่ามีการพูดถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้หรือไม่ ปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า เป็นความเข้าใจร่วมกันของทั้งสองประเทศอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศเพื่อนบ้านที่จะมีปัญหากันบ้างเป็นครั้งคราว แต่จะต้องไม่ให้ปัญหาหนึ่ง ๆ มายับยั้งความร่วมมือในด้าน อื่น ๆ และควรมุ่งไปสู่การมีประชาคมอาเซียนร่วมกัน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ