กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงทูตประเทศต่าง ๆ กรณีเกิดเหตุปะทะกันบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Monday February 7, 2011 11:26 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังจากนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญเอกอัครราชทูตและผู้แทนทางการทูตประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศไทย รวม ๑๖ ประเทศ มารับฟังข้อมูลกรณีเหตุปะทะกันบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยผู้ร่วมรับฟังประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน ๘ ประเทศ ประเทศสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council -UNSC) ๕ ประเทศ และประเทศที่มีบทบาทในงานภายใต้กรอบมรดกโลก ๓ ประเทศ (ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และบาห์เรน) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวต่อผู้แทนประเทศต่าง ๆ ว่า เป็นที่น่าเสียดายที่เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เกิดเหตุการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาขึ้น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-กัมพูชา ระหว่างวันที่ ๓-๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เป็นไปอย่างราบรื่น โดยทั้งสองประเทศตกลงที่จะผลักดันความร่วมมือด้านต่าง ๆ ร่วมกัน รวมทั้งเห็นพ้องกันให้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเขตแดนไทย-กัมพูชา (JBC) โดยเร็ว

๒. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ยืนยันเกี่ยวกับการดำเนินการของกองทัพไทยในเหตุปะทะครั้งนี้ว่า ฝ่ายไทยไม่ได้เป็นฝ่ายรุกราน การดำเนินการของทหารไทยเป็นลักษณะของการป้องกันตัวเอง โดยได้แสดงความอดกลั้นอย่างที่สุด ตอบโต้เท่าที่จำเป็น สมน้ำสมเนื้อ และมุ่งตอบโต้ต่อเป้าหมายทางการทหารของกัมพูชาเท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน ประชาชนพลเรือนไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปะทะที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และต้องอพยพประชาชนกว่า ๖,๐๐๐ คนออกจากพื้นที่ ซึ่งในขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้เข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้แล้ว

๓. ประเทศไทยไม่ต้องการให้เหตุการณ์ปะทะกันดังกล่าวบานปลายจนมากระทบกับความสัมพันธ์ทวิภาคีในภาพรวม ซึ่งทั้งสองประเทศก็มีช่องทางในการสื่อสารระหว่างกันในทุกระดับเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและให้สถานการณ์คลี่คลายได้โดยเร็ว

๔. รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้แจ้งให้เอกอัครราชทูตและผู้แทนทางการทูตประเทศต่าง ๆ ทราบด้วยว่า รัฐบาลไทยจะได้มีหนังสือถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เพื่อเวียนให้ประเทศสมาชิก UNSC ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและท่าทีของประเทศไทยในเรื่องนี้ต่อไป

๕. ฝ่ายไทยรับทราบว่ามีฝ่ายต่าง ๆ ที่ได้แสดงท่าทีเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ โดยส่วนมากก็จะเรียกร้องให้ทั้งไทยและกัมพูชาใช้ความอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง รวมทั้งนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน และนาย Marty M. Natalegawa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ที่ก็ได้โทรศัพท์ถึงรัฐมนตรีว่าการฯ แล้ว ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียประสงค์จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เพื่อมารับทราบข้อมูลด้วย ซึ่งท่าทีของฝ่ายต่าง ๆ ดังกล่าว สอดคล้องกับท่าทีของไทยอยู่แล้วที่ได้แสดงความอดกลั้นอย่างที่สุด

ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวว่าการมาเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียดังกล่าวมาในฐานะของผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) หรือไม่นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า คงไม่ถึงขั้นนั้น เป็นเพียงการเดินทางมารับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาเท่านั้น

๖. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำต่อผู้แทนประเทศต่าง ๆ ว่า การปะทะกันที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ดังนั้น คณะกรรมการมรดกโลกจึงควรชะลอการพิจารณาแผนบริหารจัดการบริเวณปราสาทพระวิหารไว้จนกว่าการเจรจาเขตแดนภายใต้กรอบของ JBC จะแล้วเสร็จ

๗. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แสดงความหวังว่าสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาจะคลี่คลายโดยเร็ว และขอให้เอกอัครราชทูตและผู้แทนทางการทูตประเทศต่าง ๆ รายงานให้ประเทศของตนทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วย

๘. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลไทยตามดำริของนายกรัฐมนตรีที่จะเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกชะลอการพิจารณาแผนการบริหารจัดการบริเวณปราสาทพระวิหารของกัมพูชา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศเคยมีหนังสือถึงผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) หลายครั้งแล้ว และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๔ เพื่อชี้ให้เห็นว่าปัญหาชายแดนไทยกับกัมพูชาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสร้างความตึงเครียดระหว่างประเทศได้ จึงควรชะลอการพิจารณาแผนบริหารจัดการฯ ไว้ก่อน และในครั้งนี้ ไทยก็จะมีหนังสือถึงผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO เพื่อแจ้งข้อกังวลดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

๙. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ตามที่ทั้งสองฝ่ายประสงค์ที่จะจัดการประชุม JBC โดยเร็ว นั้น ในช่วงบ่ายของวันนี้ (๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔) รัฐมนตรีว่าการฯ จะได้โทรศัพท์ถึงนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เพื่อกำหนดวันประชุมที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกในโอกาสแรกต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ