ผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Thursday February 10, 2011 07:27 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อค่ำวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ สรุปสาระสำคัญของการหารือได้ ดังนี้

๑. นายกรัฐมนตรีแจ้งเลขาธิการสหประชาชาติว่า ประเทศไทยได้ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุดในการดำเนินการเจรจากับกัมพูชา แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเริ่มจากการที่ฝ่ายกัมพูชาเปิดฉากยิงมายังฐานที่ตั้งของกองกำลังไทยก่อน ทำให้ฝ่ายไทยจำเป็นต้องทำการตอบโต้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี ขอย้ำว่าประเทศไทยไม่เคยตอบโต้ต่อเป้าหมายที่เป็นพลเรือนของกัมพูชา ในทางตรงกันข้าม ประชาชนพลเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษกว่า ๑๖,๐๐๐ คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป้าหมายของกัมพูชาไม่ได้มุ่งโจมตีทางทหารเท่านั้น

๒. นายกรัฐมนตรีขอให้เลขาธิการสหประชาชาติทบทวนการดำเนินการขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเป็นต้นเหตุของความบาดหมางระหว่างไทยกับกัมพูชา และหากยังเดินหน้าต่อไปจะทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น ดังเช่นการปะทะกันล่าสุดของกองกำลังทั้งสองฝ่ายบริเวณปราสาทพระวิหาร และการที่ฝ่ายกัมพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นที่กำบังของทหารกัมพูชาเพื่อยิงโจมตีฝ่ายไทย จึงจำเป็นที่สหประชาชาติจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเลขาธิการสหประชาชาติรับที่จะไปหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ของ UNESCO เพื่อพยายามหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป

๓. นายกรัฐมนตรีแจ้งให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา และพบหารือกับนาย Marty M. Natalegawa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบันแล้ว เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยการสนับสนุนของอาเซียนเพื่อให้ทั้งสองประเทศมีเวทีที่จะหาทางออกร่วมกันอย่างสันติได้ในระดับทวิภาคี ซึ่งเลขาธิการสหประชาชาติรับทราบ และรับที่จะประสานแจ้งให้ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้ทราบต่อไปด้วย

นอกจากนี้ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะส่งคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าพบผู้อำนวยการใหญ่ของ UNESCO ที่กรุงปารีส โดยมีอดีตเอกอัครราชทูตอัษฎา ชัยนาม ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ฝ่ายไทยด้วย เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อชี้แจงถึงผลกระทบของการผลักดันการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในขณะที่พื้นที่บริเวณดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องการอ้างสิทธิในพื้นที่อยู่ เพราะจะนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันระหว่างสองประเทศดังที่ได้เกิดขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการฯ จะได้เดินทางไปนครนิวยอร์ก เพื่อชี้แจงให้ข้อมูลและทำความเข้าใจกับ UNSC เกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ในฐานะประเทศสมาชิกที่ดีของสหประชาชาติ ซึ่งมิได้หมายความว่า UNSC กำลังจะเข้ามาแทรกแซงในกระบวนการหารือระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ UNSC ทราบ

ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศจะส่งคณะผู้แทนไปทำความเข้าใจกับประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก ๒๑ ประเทศว่าไทยมิได้มีเจตนาที่จะขัดขวางกระบวนการของคณะกรรมการมรดกโลก แต่ไทยประสงค์ให้กระบวนการดังกล่าวดำเนินการไปอย่างยุติธรรมและถูกต้อง รวมทั้งคำนึงถึงประเทศที่ได้รับผลกระทบด้วย

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ แจ้งด้วยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการฯ ให้สื่อสารผ่านไปยังประชาชนชาวไทยและกัมพูชาว่า รัฐบาลไทยไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เกิดการปะทะกันบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วก็จะใช้ความอดกลั้นที่สุดและพยายามหาทางออกอย่างสันติ เพื่อนำสันติภาพกลับมาสู่พื้นที่ และอยากให้ทั้งสองประเทศได้พูดคุยกัน และเมื่อเจรจากันได้แล้วก็หวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ มีการไปมาหาสู่กัน เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองสู่ทั้งสองประเทศ

อนึ่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมสารนิเทศไปประจำอยู่ที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และที่กองทัพบก เพื่อเป็นการสนับสนุนการทำงานของกองทัพและทำหน้าที่ประสานข้อมูลระหว่างกัน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ