เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินการต่อไปของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. ต่อข้อซักถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับกระแสข่าวที่ว่านายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดจะเดินทางไปนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อไปหารือกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือกัมพูชาหรือไม่นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการฯ ได้มีการพูดคุยหารือกับรองนายกรัฐมนตตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศฯ กัมพูชามาโดยตลอด ทั้งระหว่างการเดินทางไปประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-กัมพูชา ที่จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา จนเมื่อเกิดการปะทะกันของกองกำลังทหารบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ก็ได้โทรศัพท์พูดคุยกัน และทั้งสองฝ่ายต่างก็เห็นพ้องที่จะให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ในโอกาสแรก ซึ่งในชั้นนี้ รัฐมนตรีของทั้งสองประเทศตกลงกันในหลักการว่าจะจัดการประชุม JBC ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ศกนี้ ที่ประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย
๒. สำหรับการเดินทางของรัฐมนตรีว่าการฯ ไปนครนิวยอร์กในครั้งนี้ เป็นผลจากการหารือระดับสูงในรัฐบาลไทยเมื่อวานนี้ (๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔) ที่เห็นพ้องกันว่า หลังจากที่ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้มีหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council —UNSC) เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและท่าทีของประเทศไทยแล้ว การเดินทางไปให้ข้อมูลต่อที่ประชุมของ UNSC โดยตรงอีกทางหนึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์ เพื่อเป็นการตอกย้ำท่าทีของรัฐบาลไทยอีกครั้ง รวมทั้งใช้โอกาสดังกล่าวหารือนอกรอบกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศฯ กัมพูชาที่นครนิวยอร์กด้วย ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ มีกำหนดจะเดินทางภายในสุดสัปดาห์นี้ และจะชี้แจงกับ UNSC ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า UNSC จะเข้ามามีบทบาทในการ “ไกล่เกลี่ย” แต่อย่างใด UNSC มีการประชุมอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงเป็นเพียงวาระการประชุมหนึ่งที่เพิ่มเข้าไปในการประชุมประจำของ UNSC เท่านั้น
๓. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาสามารถแก้ไขได้ในระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชา และสอดคล้องกับที่นาย Marty M. Natalegawa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน ได้กล่าวระหว่างการเยือนไทยเพื่อพบกับรัฐมนตรีว่าการฯ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ แล้วว่า ไทยและกัมพูชาควรแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับทวิภาคี โดยอาเซียนและประเทศต่าง ๆ ก็สามารถมีส่วนให้การสนับสนุนกระบวนการทวิภาคีดังกล่าวได้
๔. ต่อกรณีที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ออกข่าวว่าประสงค์จะส่งคณะเข้าไปยังปราสาทพระวิหารเพื่อประเมินสถานะและความเสียหายของปราสาทฯนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนว่า การเข้าไปในพื้นที่ปราสาทพระวิหารของ UNESCO ในขณะนี้อาจยังไม่เหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชายังมีความตึงเครียดอยู่ และอาจทำให้เรื่องมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น UNESCO เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการสำรวจดูแลโบราณสถาน ตามหน้าที่จึงควรกระทำเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ดี หาก UNESCO ยืนยันที่จะเข้าพื้นที่ก็ต้องขออนุญาตฝ่ายไทยอย่างเป็นทางการก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการใหญ่ของ UNESCO เพื่อแสดงจุดยืนของประเทศไทยเกี่ยวกับการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารและการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกด้วยว่าควรชะลอการพิจารณากิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารไปจนกว่าการดำเนินงานด้านเขตแดนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) จะแล้วเสร็จก่อน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--