โฆษกกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เกี่ยวกับการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday February 15, 2011 07:29 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทางโทรศัพท์ทางไกลจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับรูปแบบของการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council — UNSC) ที่นาย กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย และนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา มีกำหนดจะเข้าร่วมในเวลา ๑๐.๐๐ น. (เวลาที่นครนิวยอร์ก) หรือตรงกับเวลา ๒๒.๐๐ น. (เวลาประเทศไทย) ว่า โดยหลักการแล้ว การประชุมของ UNSC มีหลายรูปแบบ มีทั้งการประชุมแบบเปิด ซึ่งอนุญาตให้สาธารณชน สื่อมวลชน และประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมได้ และการประชุมแบบปิด ซึ่งจะเชิญเฉพาะประเทศสมาชิก UNSC และประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ส่วนประเทศสมาชิกอื่น ๆ ที่สนใจก็สามารถขอเข้าร่วมรับฟังได้ โดยต้องทำหนังสือถึงประธาน UNSC เพื่อขออนุญาตก่อน แต่ไม่เปิดให้สื่อมวลชนและสาธารณชนเข้าร่วม ทั้งนี้ การประชุมที่รัฐมนตรีว่าการฯ จะเข้าร่วมครั้งนี้เป็นการประชุมแบบปิด ซึ่งจากข้อมูลในชั้นนี้ทราบว่าจะมีผู้กล่าวถ้อยแถลงประมาณ ๔ คน โดยเริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งจะกล่าวนำถึงที่มาที่ไปของการประชุมครั้งนี้ ตามด้วยถ้อยแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศ ๓ คน ได้แก่ กัมพูชา ไทย และอินโดนีเซีย คนละประมาณ ๑๕-๓๐ นาที ซึ่งคาดว่าการประชุมจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ ๒ ชั่วโมง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการประชุมของ UNSC อาจเป็นในรูปแบบของข้อมติ หรือแถลงการณ์ของประธาน UNSC หรือคำให้สัมภาษณ์ของประธาน UNSC ก็ได้ ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งในชั้นนี้คาดว่าจะเป็นคำให้สัมภาษณ์ของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิลประจำสหประชาชาติ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน UNSC วาระเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ ตามแนวปฏิบัติปกติของการประชุมลักษณะนี้จะไม่มีรายงานการประชุม บันทึกการประชุม หรือการถ่ายภาพการประชุมแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี หลังจากการประชุมสิ้นสุดแล้ว ผู้แทนประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องอาจออกมาให้สัมภาษณ์ที่หน้าห้องประชุม (stakeout) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ จะได้ใช้โอกาสดังกล่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วย

ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับอดีตเอกอัครราชทูตอัษฎา ชัยนาม ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า อดีตเอกอัครราชทูตอัษฎาฯ ได้พบกับผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อชี้แจงประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยยืนยันท่าทีของไทยว่า ตราบใดที่เขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณนี้ยังไม่ชัดเจน UNESCO และคณะกรรมการมรดกโลกควรเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหารออกไปก่อน เพราะอาจนำไปสู่ความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการเกิดเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาที่ผ่านมา โดย UNESCO รับทราบความกังวลของไทย

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า UNESCO ได้แต่งตั้งทูตพิเศษเพื่อดูแลเกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหารแล้วนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การมอบหมายเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวว่าเป็นข้อเสนอของทาง UNESCO แต่ในขณะนี้ยังไม่ได้มีการประสานอย่างเป็นทางการกับฝ่ายไทยแต่อย่างใด และหากมีการประสานเข้ามา ฝ่ายไทยก็คงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วยว่าคณะผู้แทนของ UNESCO ที่จะเดินทางมามีวัตถุประสงค์ใด หาก UNESCO ต้องการส่งคณะเข้าไปเพื่อสำรวจปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียง ก็ต้องมีหนังสือขออนุญาตฝ่ายไทยอย่างเป็นทางการ เพราะการจะเข้าไปในพื้นที่ปราสาทพระวิหารได้ต้องผ่านพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย อย่างไรก็ดี ถ้าความรับผิดชอบของทูตพิเศษนี้คือ การเข้ามาไกล่เกลี่ยระหว่างไทยกับกัมพูชา ฝ่ายไทยคงไม่สามารถรับได้ แต่ถ้าจะเดินทางมาเพื่อรับทราบข้อมูล ฝ่ายไทยคงต้องพิจารณาว่าจะสามารถให้ความร่วมมือได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องพิจารณาถึงอาณัติหรือหน้าที่ของผู้แทนดังกล่าวด้วย

สำหรับกำหนดการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการฯ กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ที่นครนิวยอร์ก นั้น ในชั้นนี้ยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอน แต่จากการประสานกับฝ่ายอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน คาดว่ารัฐมนตรีทั้งสองและประธานอาเซียนคงมีโอกาสได้พบปะกันก่อนการประชุม UNSC เล็กน้อย

เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมของฝ่ายไทย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ฝ่ายไทยมีความมั่นใจว่าข้อมูลและหลักฐานที่เตรียมไปมีความหนักแน่น น่าเชื่อถือ และมีน้ำหนัก ทั้งนี้ หลังจากรัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อ UNSC แล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะแปลถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการฯ เป็นภาษาไทยเพื่อเผยแพร่ต่อไป ต่อคำถามของสื่อเกี่ยวกับการโน้มน้าว (lobby) ให้ประเทศสมาชิก UNSC สนับสนุนไทยนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การชี้แจงท่าทีเป็นเรื่องปกติที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการกันเมื่อจะมีการหารือเรื่องที่เกี่ยวข้องใน UNSC ซึ่งฝ่ายไทยเองก็ได้ดำเนินการชี้แจงท่าทีกับมิตรประเทศใน UNSC มาโดยตลอด

อนึ่ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวด้วยว่า ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๐๖.๓๐ น. รัฐมนตรีว่าการฯ จะให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์มายังสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง NBT) โดยจะมีการถ่ายทอดสัญญาณไปยังสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง ๕) ด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการถ่ายทอดสดการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการฯ ทันทีหลังการประชุม UNSC ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ได้จากเว็บไซต์ของสหประชาชาติ www.un.org/webcast ด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ