ท่านประธานที่เคารพ
ผมในนามคณะผู้แทนไทย ขอแสดงความยินดีอย่างจริงใจต่อการเข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ของท่าน อีกทั้งขอส่งความปรารถนาดีมายังมิตรทั้งหลายในคณะมนตรีความมั่นคงฯ ทุกท่านด้วย
ผมขออนุญาตส่งคำทักทายของคณะผู้แทนไทยไปยัง ฯพณฯ ฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ผู้ซึ่งกระผมรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีในฐานะเพื่อนร่วมงานในอาเซียน และได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาหลายปี คณะผู้แทนของผมใคร่ขอทักทาย ฯพณฯ มาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในขณะนี้ด้วย
ท่านประธานที่เคารพ
ผมมา ณ ที่นี่ในวันนี้ด้วยความลำบากใจที่จะต้องกล่าวเกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนบ้านและสมาชิกร่วมครอบครัวอาเซียนของไทย เป็นเรื่องขัดกันเองที่น่าเศร้าที่เมื่อตอนเช้าของวันที่ 4 ก.พ. ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ผมได้ร่วมประชุมที่ประสบผลหลายด้านและเป็นกันเองกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาในระหว่างประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (JC) ผมออกจากที่ประชุมดังกล่าวด้วยความเชื่อในอนาคตที่สดใสของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสองประเทศต้องมาที่นี่เพื่อพูดเกี่ยวกับปัญหาทวิภาคีระหว่างกัน ทั้ง ๆ ที่อาเซียนได้มีข้อตัดสินใจร่วมกันไปแล้วว่า กรณีเช่นนี้ควรได้รับการแก้ไขระหว่างคู่กรณีที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ท่านประธานที่เคารพ
ผมมาที่นี่เพื่อที่จะอธิบายให้มิตรประเทศในคณะมนตรีมั่นคงฯ ได้ทราบถึงข้อเท็จจริง โดยผมตั้งใจที่จะ หนึ่ง วางเรื่องที่อยู่เฉพาะหน้าเรานี้ให้อยู่ในมุมมองที่ถูกต้องเหมาะสม สอง แจ้งให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ ณ บริเวณหนึ่งของชายแดนไทย-กัมพูชาซึ่งมีความยาว ๘๐๐ กิโลเมตร สาม เปิดเผยถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สี่ ให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่าง ๆ และลบล้างนิยายเรื่องเล่าที่ทางกัมพูชาได้กระพืออยู่ และ สุดท้าย ชี้แจงถึงแนวทางที่ประเทศไทยและอาเซียนมุ่งมั่นที่จะดำเนินต่อไป
ประเด็นแรก การวางเรื่องที่อยู่เฉพาะหน้าเรานี้ให้อยู่ในมุมมองที่ถูกต้องเหมาะสมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ในการนี้ ผมขอให้เพื่อนๆ ในคณะมนตรีมั่นคงฯ ละวางภาพต่าง ๆ ที่ได้เห็นผ่านทางโทรทัศน์ รวมถึงสำบัดสำนวนที่ชวนทะเลาะต่าง ๆ ไว้ชั่วคราวก่อน และลองนึกภาพประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศที่มีพรมแดนร่วมกันยาวประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร หรือ ประมาณ ๕๐๐ ไมล์ ตลอดแนวชายแดนร่วมกันนี้ ประชาชนยังคงไปมาหาสู่ ทำมาค้าขาย และมีกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันโดยสันติเป็นประจำทุกวันตลอดทั้งปี ชาวไทยและชาวกัมพูชาเป็นเหมือนญาติพี่น้องที่มีความคล้ายคลึงกันในด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิต
แต่ก็เช่นเดียวกับในภูมิภาคต่าง ๆ ในโลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศที่มีพรมแดนร่วมกันนั้นเป็นเหมือนพี่น้อง ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาไม่ใช่ข้อยกเว้น พูดกันตามตรงแล้ว ความสัมพันธ์ของเรามีขึ้นมีลง มีทั้งช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี แต่เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาเกิดขึ้น เราก็จะแก้ไขปัญหานั้นด้วยกันผ่านการปรึกษาหารือและพูดคุยกัน แล้วเราก็เดินหน้าต่อไปด้วยกันในลักษณะที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย เราสามารถเอาชนะความท้าทายระดับทวิภาคีต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้ เพราะทั้งสองประเทศตระหนักว่า ในฐานะเพื่อนบ้านและสมาชิกของประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น เราจะต้องอยู่เคียงข้างกัน เราไม่สามารถย้ายประเทศหนีจากกันได้
ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ระหว่างวันที่ ๔ - ๗ กุมภาพันธ์ ผมขอเน้นย้ำว่า ในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทหารไทยไม่เคยเป็นผู้ที่ยิงก่อน เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ กองกำลังทหารกัมพูชาได้เริ่มยิงโจมตีไปยังทหารไทยซึ่งอยู่ภายในดินแดนไทย ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการโจมตีตามไปอีกด้วยอาวุธหนักมากมาย
เป็นเรื่องน่าประหลาดมากที่การโจมตีของฝ่ายกัมพูชาเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังการประชุม JC ที่ประสบผลในหลายด้านและเป็นกันเอง ซึ่งผมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาเป็นประธานร่วมกันที่จังหวัดเสียมราฐ การประชุมดังกล่าวมีข้าราชการระดับสูงฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศเข้าร่วม อันที่จริงแล้ว ผมและคณะได้รับทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวหลังจากที่เครื่องบินลงที่ท่าอากาศยานกรุงพนมเปญเพื่อเดินทางไปเยี่ยมพลเมืองชาวไทยที่นั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิงที่ทหารฝ่ายไทยจะเป็นฝ่ายเริ่มยิงไปยังกองกำลังทหารกัมพูชาก่อน ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและข้าราชการระดับสูงของไทยยังคงอยู่ในกรุงพนมเปญ
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเองได้กล่าวในลักษณะที่แทบจะยอมรับเสียเองว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน โดยในหนึ่งในสุนทรพจน์ที่กล่าวโจมตีไทยอย่างดุเดือดเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์นั้น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้กล่าวว่า เป็นเรื่องไม่สำคัญว่า "ใครเริ่มยิงก่อน" ซึ่งจะเป็นเรื่องไม่สำคัญได้อย่างไร เมื่อฝ่ายหนึ่งเริ่มยิงไปยังพลเรือนและกองกำลังทหารของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็คาดเดาได้ว่า อีกฝ่ายก็จะต้องป้องกันตนเองและประชาชนของตน
ท่านประธานที่เคารพ
ประเทศไทยรักษาคำมั่นของเราตามที่ตกลงกันเสมอและก็คาดหวังว่าฝ่ายกัมพูชาจะทำเช่นเดียวกัน แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ความคาดหวังดังกล่าวได้ถูกทำลายลงโดยสิ่งที่ฝ่ายกัมพูชาได้กระทำในพื้นที่ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้
หลังจากเหตุการณ์ในช่วงบ่ายของวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ และอีกครั้งในช่วงเช้าตรู่วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ ฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ผู้บังคับการทหารระดับภูมิภาคของไทยและฝ่ายกัมพูชาได้พบกันที่ช่องสะงำในจังหวัดศรีสะเกษของประเทศไทยในช่วงสายของวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ในการพบกันดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงที่จะหยุดยิงทันทีและกำหนดมาตรการอื่น ๆ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๘.๓๐ น. กองกำลังทหารกัมพูชาก็ได้ละเมิดข้อตกลงดังกล่าวโดยการยิงพลุส่องสว่างขึ้นไปบนท้องฟ้า ตามด้วยการยิงโจมตีด้วยอาวุธหนักไปที่ช่องโดนเอาว์และภูมะเขือในดินแดนไทย การโจมตีได้ขยายออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในดินแดนไทย ได้แก่ เขาสัตตะโสม พลาญยาว ช่องตาเฒ่า พื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหาร และหมู่บ้านภูมิซรอลซึ่งตั้งอยู่ลึกไปในดินแดนไทยประมาณ ๕ กิโลเมตร หลังแนวที่ตั้งทางทหารของไทยเข้าไปมาก ในการโจมตีดังกล่าวนี้ กองกำลังกัมพูชาได้ใช้อาวุธหลายชนิด รวมถึงปืนอากา AK-47 จรวดอาร์พีจี และจรวดสนามหลายลำกล้องรุ่น BM-21 นอกจากนี้ ในช่วงเช้าวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ กองกำลังทหารกัมพูชาได้เริ่มยิงอีกครั้งมายังทหารไทยที่ประจำอยู่ที่ภูมะเขือและพลาญยาวในดินแดนไทย โดยใช้อาวุธต่าง ๆ อาทิ จรวดอาร์พีจี
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อสิ่งปลูกสร้างของพลเรือนไทยหลายหลัง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคนทั้งพลเรือนและทหารไทย ทหาร ๒ นาย และพลเรือน ๒ คนซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็ก ๑ คน ต้องสูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านไทยผู้บริสุทธิ์ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณชายแดนในพื้นที่ที่ถูกโจมตีกว่า ๒๐,๐๐๐ คนต้องอพยพหนี ภาพของความเสียหายเหล่านี้ได้สร้างความสะเทือนใจแก่ประชาชนชาวไทยทั้งชาติ ซึ่งไม่เคยนึกมาก่อนว่า ในชั่วชีวิตของเรานี้ คนไทยจะต้องตกอยู่สภาพเป็นผู้อพยพในประเทศของตัวเอง
ท่านประธานที่เคารพ ตลอดเหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ ฝ่ายไทยได้ใช้ความอดกลั้นอย่างถึงที่สุดเสมอมา แต่เมื่อต้องเผชิญกับการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างชัดเจน และการโจมตีโดยไม่มีการยั่วยุก่อนต่อประชาชนพลเรือนและทรัพย์สินของไทย ฝ่ายไทยก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้สิทธิโดยชอบธรรมของเราในการปกป้องตนเอง ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว เราได้ใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุด บนพื้นฐานของความจำเป็น พอเหมาะพอควร และมุ่งเป้าโดยตรงไปยังเป้าหมายทางทหารที่ฝ่ายกัมพูชาได้โจมตีออกมาเท่านั้น
นอกจากนี้ พวกเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ควรประณามที่ทหารกัมพูชาได้ใช้ปราสาทพระวิหารเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร อันเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ว่าฝ่ายกัมพูชาจะปฏิเสธเรื่องดังกล่าว แต่ผมเชื่อว่าทั้งโลกได้เห็นกับตาแล้วจากรูปภาพหลายรูปที่แสดงทหารกัมพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นค่ายทหารและฐานในการโจมตี รูปภาพเหล่านี้ถ่ายและเผยแพร่โดยทั้งสื่อกัมพูชาและสื่อต่างประเทศ ซึ่งผมคงไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้เนื่องจากรูปภาพเหล่านี้บอกความหมายได้ดีกว่าคำพูดมากมายนัก
ท่านประธานที่เคารพ
เรื่องนี้นำมาสู่ประเด็นที่สามของผม เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมองเลยจากสิ่งที่กัมพูชาพูดไปยังเหตุจูงใจเบื้องหลังของการรุกรานที่มีการไตร่ตรองไว้ก่อนล่วงหน้านี้ เช่นเดียวกับละครบรอด์เวย์ การรู้เค้าโครงของเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ
เค้าโครงของเรื่องก็คือ สำหรับกัมพูชาแล้ว กัมพูชาต้องการสร้างสถานการณ์บริเวณชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหารเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับยุทธศาสตร์การเมืองที่จะเลี่ยงการเจรจาทวิภาคีที่กำลังดำเนินอยู่และทำให้ประเด็นที่โดยสาระแล้วเป็นเรื่องทวิภาคี กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ ตัวอย่างหนึ่ง คือ การโจมตีของกัมพูชาเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ซึ่งจงใจเริ่มต้นทันทีที่พระอาทิตย์ตก การใช้พลุส่องสว่างอย่างเป็นระบบเพื่อนำทางปืนใหญ่จากฝั่งกัมพูชาเป็นการเน้นย้ำอย่างปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่าการโจมตีนี้ได้มีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าและวางแผนเป็นอย่างดีไว้ก่อนแล้ว ความรวดเร็วของการส่งหนังสือจากนายกรัฐมนตรีกัมพูชาถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ เรียกร้องให้มีการประชุมเร่งด่วนเพียงไม่นานหลังจากที่การโจมตีของฝ่ายกัมพูชาเริ่มต้นขึ้น ก็เป็นการยืนยันลักษณะของการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าของการโจมตีนี้
ท่านประธานที่เคารพ
จุดมุ่งหมายสูงสุดของเค้าโครงเรื่องนี้มีความชัดเจน นั่นคือ เพื่อเลี่ยงการเจรจาทวิภาคีเกี่ยวกับเขตแดนที่กำลังดำเนินอยู่ และยืมมือสหประชาชาติเพื่อแผ้วถางทางสำหรับการที่กัมพูชาจะผลักดันให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งต่อไปที่ประเทศบาห์เรนในกลางปีนี้ ให้ความเห็นชอบแก่แผนบริหารจัดการสำหรับปราสาทพระวิหารของตนให้สำเร็จให้ได้แม้ว่าจะมีปัญหาอยู่อีกมากก็ตาม การเจรจาทวิภาคีกับประเทศไทยเกี่ยวกับเขตแดนบริเวณใกล้ปราสาทพระวิหารได้กลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองในขณะนี้ของกัมพูชา ดังนั้นจึงต้องกำจัดให้พ้นทาง
เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องชี้ให้เห็นด้วยว่า ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของกัมพูชา ประเด็นเรื่องเขตแดนเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ได้ผลเสมอสำหรับการเมืองภายใน โดยเรื่องเขตแดนกับประเทศไทยถือเป็นไพ่ทางเลือกที่ใช้สะดวกและได้ผลมากที่สุด ประเทศไทยได้กลายเป็นผีร้ายที่ปลุกได้ง่ายสำหรับการเมืองภายในกัมพูชา วันนี้กลยุทธ์นี้ก็ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
ท่านประธานที่เคารพ
ไม่มีสิ่งใดสามารถให้ความชอบธรรมแก่การใช้ยุทธวิธีทางทหารเช่นนี้เพื่อผลทางการเมืองได้ ไม่มีสิ่งใดสามารถให้ความชอบธรรมกับการเล่นเกมกับชีวิตของประชาชนเพื่อผลทางการเมือง คณะมนตรีความมั่นคงฯ ไม่ควรสนับสนุนการใช้กลยุทธ์เช่นนี้
ผมขอเน้นย้ำ ณ ที่นี้ อย่างชัดเจนและจริงใจที่สุดว่า ประเทศไทยไม่มีความมุ่งร้ายต่อประเทศกัมพูชา เราจะมีได้อย่างไร? ทุกอย่างที่เรามีคือ มิตรภาพ ความสุจริตใจ และความจริงจังที่จะทำงานร่วมกับกัมพูชาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ
เราได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรกับกัมพูชา เราเคยให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชานับล้านคน เราสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในกัมพูชาโดยทหารไทยได้มีส่วนร่วมในความพยายามรักษาสันติภาพในกัมพูชาภายใต้สหประชาชาติและมีบทบาทแข็งขันในการบูรณะประเทศกัมพูชา เรามีความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับกัมพูชามากมาย เราให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาอย่างสม่ำเสมอในหลายสาขา อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข เกษตรกรรม โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กล่าวสั้น ๆ คือ สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศกัมพูชา ก็คือสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยนั่นเอง
ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่มีความตั้งใจและไม่มีความปรารถนาที่จะยึดครองอาณาเขตของประเทศเพื่อนบ้าน เราเพียงแต่ต้องการที่จะอยู่อย่างสันติและสมัครสมานสามัคคีกับประเทศเพื่อนบ้านของเรา เราไม่ต้องการความขัดแย้ง เราไม่ต้องการเห็นคนบริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต ถึงแม้ว่าประเทศกัมพูชาจะทุกข์ยากมามากกับปัญหาการเมืองภายในของตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากัมพูชาจะสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในกรณีนี้ กัมพูชาโจมตีประเทศไทยเอาเสียเฉย ๆ แล้วก็กลับไปร้องแรกแหกกะเฌอเรียกร้องความเห็นใจและกล่าวโทษประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นฝ่ายถูกโจมตี
สำหรับคำขอให้หยุดยิงของกัมพูชานั้น ประเทศไทยไม่มีปัญหากับเรื่องดังกล่าว เพราะเรายึดมั่นในสันติภาพ ไม่เคยเปิดฉากโจมตีก่อน และรักษาข้อตกลงของฝ่ายเราในอันที่จะลดความตึงเครียดลงเสมอ คำขอนี้ควรมุ่งไปที่ฝ่ายกัมพูชามากกว่า เพื่อที่กัมพูชาจะได้รักษาสัญญาของฝ่ายตน ฝ่ายไทยจะยังคงใช้ความอดกลั้นอย่างที่สุดต่อการยั่วยุต่าง ๆ ต่อไป
ท่านประธานที่เคารพ
ผมขอกล่าวถึงประเด็นที่ ๔ มีความจำเป็นที่ผมจะต้องลบล้างนิยายกล่าวอ้างต่าง ๆ ที่กัมพูชากระพืออยู่ ซึ่งได้สร้างความสับสนแก่มิตรของเราหลายฝ่าย
ข้อหนึ่ง ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรณีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี ๒๕๐๕ แล้วอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ศาลฯ ได้วินิจฉัยเองว่า ศาลฯ ไม่มีเขตอำนาจในประเด็นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา และปฏิเสธความพยายามของกัมพูชาที่จะขยายขอบเขตของคำพิพากษาให้ครอบคลุมประเด็นดังกล่าว แผนที่ที่กัมพูชาใช้เป็นพื้นฐานของความพยายามดังกล่าวก็มิได้รับการผนวกเข้ากับคำพิพากษาของศาลโลก ดังนั้น จึงไม่มีสถานะทางกฎหมายในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง เพียงแต่ได้รับการผนวกเข้ากับคำฟ้องของกัมพูชาต่อศาลฯ เท่านั้น
ที่สำคัญคือ เป็นความเข้าใจร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าจะหาข้อยุติในประเด็นเขตแดนโดยการเจรจาทวิภาคีภายใต้กรอบที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา ปี ๒๕๔๓ เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมถึงการยอมรับของกัมพูชาว่า เขตแดนไทย-กัมพูชาตลอดแนวยังคงต้องหาข้อยุติโดยการเจรจาทวิภาคี บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการร่วมเขตแดนไทย-กัมพูชา (JBC) จะ “จัดทำแผนที่ของเขตแดนทางบกที่ได้มีการสำรวจและจัดทำหลักเขต” เป็นหนึ่งในงานของ JBC
สำหรับประเทศไทย เรามีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาชายแดนทั้งหมดรวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารโดยสันติและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและความตกลงทวิภาคี ภายใต้กรอบและกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ โดยเฉพาะ MOU และกลไก JBC ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งทั้งสองประเทศได้ผูกพันตนเองอยู่
สอง ความตึงเครียดที่มีอยู่ต่อเนื่องนี้เป็นผลโดยตรงจากความพยายามฝ่ายเดียวของกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ถึงแม้ว่าตามข้อเท็จจริง พื้นที่โดยรอบยังคงต้องขึ้นกับการเจรจาทวิภาคีภายใต้ JBC ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านทั้งสองฝั่งซึ่งหลายคนเป็นญาติพี่น้องกัน ได้อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และนักท่องเที่ยวก็สามารถเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ และโดยตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของปราสาท และความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบูรณะซ่อมแซมปราสาท ประเทศไทยก็ได้เคยเสนอที่จะช่วยเหลือกัมพูชาในการฟื้นฟูปราสาทนี้ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ยังคงมีอยู่
ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นที่คณะกรรมการมรดกโลกและสำนักเลขาธิการ UNESCO ต้องระงับการดำเนินกิจกรรมเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ อันจะเป็นการขัดขวางหรือด่วนตัดสินผลงานของ JBC ทั้งนี้ เพื่อที่จะช่วยสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้อย่างยั่งยืน
กัมพูชาเองได้ยอมรับอย่างเป็นทางการในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งล่าสุดที่กรุงบราซิเลียเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมาว่า แผนบริหารจัดการเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารจะขึ้นอยู่กับผลสรุปของงานของ JBC ดังนี้
“รัฐภาคีกัมพูชา ได้อธิบายในรายงานว่า จะมีแผนที่ที่เสร็จสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อได้จัดทำหลักเขตแดนทางบกในพื้นที่เสร็จสิ้น โดยการตกลงร่วมกันของรัฐภาคีกัมพูชาและไทยเกี่ยวกับผลสรุปสุดท้ายของงานของ JBC”
สาม กลไกทวิภาคียังมิได้ใช้อย่างเต็มที่จนถึงที่สุด และไทยยึดมั่นกับกระบวนการนี้โดยสุจริตใจ เพราะเราเชื่อว่า ประเด็นเขตแดนระหว่างสองประเทศควรได้รับการแก้ไขโดยประเทศที่เกี่ยวข้องสองประเทศเป็นการดีที่สุด ดังเห็นได้จากกรณีข้อพิพาททางเขตแดนหลายกรณีทั่วโลก กระบวนการทวิภาคีจะต้องใช้เวลาและไม่สามารถเร่งรัดได้ การแก้ไขปัญหาเขตแดนต้องใช้ความอดทนและความสุจริตใจที่จะบรรลุซึ่งผลที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ ดังเช่นตัวอย่างของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหพันธรัฐรัสเซียที่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นเขตแดนในปี ๒๕๕๑ ภายหลังจากที่ได้เจรจากันนานกว่า ๔๐ ปี
ประเทศไทยได้รอคอยกว่า ๓๐ ปีเพื่อให้กัมพูชาได้แก้ไขปัญหาภายในก่อนที่จะสามารถเริ่มเจรจาเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกได้ ประเทศไทยเข้าใจข้อจำกัดของกัมพูชาในขณะนั้น เรามิได้กดดันกัมพูชาจนกระทั่งกัมพูชาพร้อม
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประเทศไทยขอย้ำว่า รัฐบาลไทยไม่เคยมีความตั้งใจที่จะถ่วงเวลาการให้ความเห็นชอบบันทึกรายงานการประชุม JBC ๓ ครั้งที่ผ่านมาโดยรัฐสภา บันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวต้องเสนอต่อรัฐสภา และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาตามกระบวนการรัฐธรรมนูญของไทย
เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ รัฐบาลไทยในฐานะฝ่ายบริหารไม่สามารถสั่งการฝ่ายนิติบัญญัติได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่า รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบรายงานการประชุมในโอกาสแรก ผมยินดีที่จะแจ้งต่อคณะมนตรีฯ ว่า ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งให้พิจารณาร่างบันทึกรายงานการประชุม JBC ได้ประกาศว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปข้อพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอข้อพิจารณาต่อรัฐสภาในเร็ว ๆ นี้ ดังนั้น จึงไม่เป็นการเหมาะสมที่กัมพูชาจะด่วนตัดสินการพิจารณาของรัฐสภาไทยเป็นการล่วงหน้า
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว รัฐสภาไทยได้เห็นชอบข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ ในประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญา ภายหลังที่ได้พิจารณากันเป็นเวลานาน การแก้ไขดังกล่าวช่วยขจัดความไม่แน่นอนในกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญา นี่ถือเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทย
ผมประสงค์จะชี้ให้เห็นด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชาที่กัมพูชาเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ดังที่สะท้อนอยู่ในรายงานการประชุมอย่างเป็นทางการ กัมพูชาได้แสดงความเข้าใจในกระบวนการภายในทางด้านรัฐสภาของไทย และยังได้แสดงความหวังว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อทั้งสองฝ่ายจะได้ดำเนินการเกี่ยวกับงาน JBC ต่อได้อย่างรวดเร็วต่อไป จึงเป็นที่น่าพิศวงที่เพียงแค่ช่วงเวลาเพียง ๑๐ วันหลังจากนั้น รัฐบาลกัมพูชาได้เปลี่ยนใจไปเป็นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
ผมขอเน้นด้วยว่า ประเทศไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้าง และในฐานะรัฐบาลที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบในสังคมประชาธิปไตย รัฐบาลไทยมีหน้าที่ต้องรับฟังทุกความเห็นในสังคม เพื่อสะท้อนให้เห็นความรับผิดชอบนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมเองได้ใช้เวลา ๑๗ ชั่วโมงในรัฐสภาในการตอบคำถามสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับประเด็นนี้ ประเทศไทยหวังว่าบรรดามิตรของเราจะเคารพกระบวนการประชาธิปไตยของเรา
ในการนี้ แม้ว่าบันทึกรายงานการประชุม JBC จะยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา รัฐบาลไทยก็ได้ยื่นข้อเสนอหลายข้อ โดยสุจริตใจ ต่อกัมพูชาให้จัดการประชุม JBC เพื่อผลักดันงานที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนทางบก เป็นที่น่าเสียใจว่าข้อเสนอทั้งหมดของเราถูกปฏิเสธ ล่าสุดเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอต่อกัมพูชาอีกครั้งให้จัดการประชุม JBC ในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้ กัมพูชาได้ตอบรับข้อเสนอ แต่เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เราได้รับแจ้งจากกัมพูชาอีกครั้งว่าไม่ต้องการประชุม อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสุจริตใจและความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาปัจจุบันด้วยการเจรจาอย่างสันติ เราได้ส่งหนังสือถึงกัมพูชาเรียกร้องให้กลับมาเข้าร่วมกระบวนการ JBC ตามที่กัมพูชาได้ตกลงไว้ก่อนหน้านี้ ผมขอเรียกร้องให้มิตรฝ่ายกัมพูชาของผมตอบรับคำเชิญนี้เพื่อเป็นการแสดงถึงความสุจริตใจ
สี่ ประเทศไทยขอปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงถึงข้อกล่าวหาที่ไร้หลักฐานของกัมพูชาที่ว่าประเทศไทยใช้ระเบิดพวงในระหว่างการปะทะกันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยให้การสนับสนุนความพยายามในการลดกำลังอาวุธอย่างแข็งขัน ซึ่งรวมถึงการกำจัดอาวุธระเบิดพวง เรากำลังพิจารณาอย่างจริงจังที่จะเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง
ท่านประธานที่เคารพ
มาถึงประเด็นสุดท้ายของผม นั่นคือ แนวทางต่อไปที่ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มุ่งมั่นที่จะดำเนินต่อไป
ผมขอยืนยันต่อคณะมนตรีฯ ว่า แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้และไม่ว่าจะน่าสลดใจเพียงใด ประเทศไทยก็ยังคงเชื่อว่าการร่วมมือกันบนพื้นฐานของมิตรภาพและความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ทั้งสองประเทศก้าวผ่านปัญหาในปัจจุบันไปได้เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศทั้งสอง ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชามีทั้งช่วงขึ้นและช่วงลง แต่ ปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นก็ได้รับการยับยั้งและแก้ไขอย่างประสบผลเสมอมา ในครั้งนี้ก็ไม่แตกต่างกัน
การปะทะกันบริเวณชายแดนที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนนี้จำกัดทั้งในแง่พื้นที่และในแง่ระยะเวลา สถานการณ์ในขณะนี้ได้สงบลงแล้ว ชาวบ้านได้ทยอยเดินทางกลับบ้านและเริ่มกลับเข้าสู่วิถีชีวิตตามปกติ ประเทศไทยยึดมั่นที่จะดำเนินการทุกอย่างที่สามารถกระทำได้ต่อไปเพื่อทำให้มั่นใจว่าจะมีความสงบที่ยั่งยืนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อันที่จริง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยมีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนกรุงพนมเปญในวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงสินค้าไทย (Thailand Trade Fair) ประจำปี ณ กรุงพนมเปญ ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา โดยในระหว่างที่พำนักในกรุงพนมเปญ รองนายกรัฐมนตรีไทยมีกำหนดการที่จะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีกัมพูชาด้วย
ในขณะเดียวกัน เราขอขอบคุณต่อการสนับสนุนและกำลังใจจากครอบครัวอาเซียน เรายินดีต่อการเยือนกัมพูชาและไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน เพื่อปรึกษาหารือเมื่อวันที่ ๗ และ ๘ กุมภาพันธ์ตามลำดับ เราเห็นพ้องกับข้อสังเกตของประธานอาเซียนว่า ปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชาโดยสาระแล้วเป็นประเด็นทวิภาคี และทั้งสองประเทศควรแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีผ่านกลไกการหารือทวิภาคี โดยที่ภูมิภาคสามารถให้การสนับสนุนและกำลังใจได้ตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับกัมพูชา เราได้เห็นพ้องด้วยกับข้อเสนอของประธานอาเซียนที่จะจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ณ กรุงจาการ์ตา ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ท่านประธานที่เคารพ
โดยสรุป คณะผู้แทนของผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยและกัมพูชาต้องมองไปสู่อนาคตด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพวกเรากำลังก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน เราตระหนักว่า สายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงไทยและกัมพูชาเข้าไว้ด้วยกันนั้น ยิ่งใหญ่กว่าความแตกต่างที่แบ่งแยกทั้งสองประเทศมากนัก เราไม่สามารถเคลื่อนย้ายหนีกันไปได้ เราต้องอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ การกระทำใด ๆ ที่ไม่บังควรเพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองในระยะสั้นจะสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างรอยแผลเป็นที่บาดลึกอีกแผลหนึ่งในความรู้สึกของประชาชนของทั้งสองประเทศ ประชาชนผู้ซึ่งจะต้องอาศัยอยู่ร่วมกันต่อไปอีกนานหลังจากการประชุมนี้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว
ประเด็นเบื้องหน้าเราในวันนี้ในสาระแล้วเป็นปัญหาทางการเมือง และในที่สุดแล้ว ก็จำเป็นต้องได้เจตจำนงทางการเมืองจากทั้งสองฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยยังคงยึดมั่นที่จะทำงานร่วมกับกัมพูชาอย่างใกล้ชิดและโดยสุจริตใจ ผ่านกรอบการเจรจาทวิภาคีต่าง ๆ ทั้งหมดที่มีอยู่ ประเทศไทยได้ยื่นมือออกมาแล้วและกำลังรอคอยการการแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างจริงใจจากกัมพูชา เราหวังว่า เมื่อกัมพูชาได้คิดทบทวนอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับอนาคตในระยะยาวของความสัมพันธ์ในภาพรวมของเรา รวมทั้งผลประโยชน์ของภูมิภาคอย่างดีแล้ว กัมพูชาจะตอบรับความปรารถนาดีและความจริงใจของเรา ดังนั้น ผมจึงใคร่ขอเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ให้การสนับสนุนแก่การดำเนินการอย่างต่อเนื่องของกระบวนการทวิภาคี ซึ่งจะสามารถทำให้เข้มแข็งขึ้นได้จากการสนับสนุนและกำลังใจจากครอบครัวอาเซียน แนวทางนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประเทศไทยและต่อประเทศกัมพูชา รวมทั้งภูมิภาคโดยรวมด้วย
ผมขอขอบคุณ ท่านประธาน
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--