เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทางโทรศัพท์จากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ถึงผลการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council — UNSC) เกี่ยวกับเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่มีการหารือเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวถึง ที่มาของการเดินทางไปร่วมประชุม UNSC ในครั้งนี้ว่าเป็นเพราะฝ่ายกัมพูชาได้มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิลประจำสหประชาชาติ ซึ่งเป็นประธาน UNSC วาระเดือนกุมภาพันธ์ เรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงในประเด็นปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยอ้างว่าการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างสองประเทศไม่ประสบผลสำเร็จ และกล่าวอ้างว่าประเทศกัมพูชาถูกประเทศที่ใหญ่กว่าโจมตี
๒. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวสรุปผลการประชุม UNSC เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ว่า การประชุมเริ่มต้นโดยนาย B. Lynn Pascoe รองเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายกิจการการเมือง กล่าวรายงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา ตามด้วยถ้อยแถลงของฝ่ายกัมพูชา ไทย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ จากนั้น ได้เปิดโอกาสให้ทุกประเทศสมาชิก UNSC อภิปราย ซึ่งทุกประเทศเห็นพ้องกันว่า กลไกทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชายังมีความจำเป็นและต้องดำเนินการต่อไป เพื่อจะได้ทำการสำรวจและปักหลักเขตแดนให้แล้วเสร็จ และขอให้ทั้งสองประเทศหยุดยิงอย่างถาวร นอกจากนี้ UNSC เห็นว่า ความพยายามที่จะเจรจากันเกี่ยวกับเขตแดนและการยุติการสู้รบต้องได้รับการสนับสนุนจากอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนด้วย ซึ่งจากผลการประชุมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายกัมพูชาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้สหประชาชาติส่งเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์การสู้รบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ในทางตรงกันข้าม สหประชาชาติได้เรียกร้องให้กัมพูชาหันมาเจรจาทวิภาคีกับไทย
๓. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุม UNSC ทราบว่า กระบวนการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชายังคงดำเนินอยู่ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศ และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ระหว่างแม่ทัพภาคที่ ๒ ของไทยกับผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ ๔ ของกัมพูชา สำหรับฝ่ายไทยนั้นได้แสดงความพร้อมที่จะเจรจากับฝ่ายกัมพูชามาโดยตลอด เช่น กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญฝ่ายกัมพูชามาร่วมประชุม JBC ไทย-กัมพูชา ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ประเทศไทยแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ก็ได้แจ้งให้สหประชาชาติรับรู้เกี่ยวกับการเชิญดังกล่าวแล้วด้วย นอกจากนี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้ยืนยันว่า กระทรวงกลาโหมพร้อมที่จะหารือกับฝ่ายกัมพูชาในโอกาสแรก ขณะนี้จึงอยู่ที่ว่าฝ่ายกัมพูชาจะมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างไรและจะตอบสนองต่อผลการประชุม UNSC นี้หรือไม่ ซึ่งภายในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ (เวลานิวยอร์ก) รัฐมนตรีว่าการฯ จะขอพบกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือกัมพูชา เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการเจรจากันต่อไปด้วย แต่ในชั้นนี้ ยังรอการยืนยันตอบรับจากฝ่ายกัมพูชา
๔. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวว่าหลังจากมีการพูดคุยกันทางการทูตแล้วจะสามารถประกันความปลอดภัยของประชาชนบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาได้มากขึ้นหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ฝ่ายกัมพูชาทราบดีว่าขณะนี้ทั้งสองฝ่ายมีพันธกรณีที่จะต้องหยุดยิงอย่างถาวร ซึ่งฝ่ายไทยไม่มีปัญหาและได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่า ไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มการโจมตีก่อน และไม่ได้มุ่งไปยังเป้าหมายที่เป็นพลเรือน อย่างไรก็ดี การดำเนินการใด ๆ ในเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายกัมพูชาด้วย ส่วนคำถามที่ว่าผลจากที่ประชุม UNSC ในครั้งนี้จะผูกพันองค์การอื่น ๆ อาทิ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ด้วยหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า จากผลของการประชุมในครั้งนี้คงต้องมีการเจรจากันระหว่างไทยกับกัมพูชาต่อไป ทั้งนี้ UNSC ไม่ได้มีการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี หากฝ่ายกัมพูชาต้องการเสนอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาในประเด็นนี้ก็สามารถทำได้ และฝ่ายไทยก็พร้อม เนื่องจากได้มีการเตรียมการมาโดยตลอด แต่ในชั้นนี้ คิดว่ากลไกการเจรจาทวิภาคียังสามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้อยู่
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--