รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับจากการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกรณีสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Monday February 21, 2011 07:36 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวหลังเดินทางกลับจากเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่นครนิวยอร์ก ว่า กรณีที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีข้อเรียกร้อง ๔ ข้อก็คงรับฟังไว้ ในส่วนของไทยก็จะมีข้อเสนอในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่กรุงจาการ์ตาเช่นกัน ส่วนจะมีข้อเสนออย่างไรนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ในเบื้องต้นคงต้องชี้แจงให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทราบเกี่ยวกับกลไกการเจรจาต่าง ๆ ที่มีอยู่ และคงสำเนาเอกสารที่ได้เวียนให้ประเทศสมาชิก UNSC ทราบให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย เพื่อให้ประเทศสมาชิกเข้าใจสถานะของเรื่อง ประเด็นที่เป็นปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จะได้จัดการประชุมเตรียมการที่กระทรวงฯ และวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ จะประชุมกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือกันในเรื่องนี้

รัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำว่า ที่ประชุม UNSC ขอให้ไทยกับกัมพูชาเจรจากัน โดยมีอาเซียนเป็น “พี่เลี้ยง” ซึ่งท่าทีดังกล่าวสอดคล้องกับท่าทีของไทยมาโดยตลอด นอกจากนี้ กลไกการเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศก็มีอยู่และมีความคืบหน้า โดยคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-กัมพูชา เพิ่งประชุมไปเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีผู้แทนทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารร่วมประชุมด้วย สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับเขตแดนนั้น กลไกที่ดำเนินอยู่มีทั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ซึ่งก็มีความคืบหน้ามาโดยตลอด ยกตัวอย่างเช่น การหาหลักเขตจากทั้งหมด ๗๓ หลัก ก็หาพบแล้ว ๔๐ กว่าหลัก ซึ่งเป็นงานส่วนที่ต้องดำเนินการกันต่อไป ส่วนการดำเนินงานภายใต้กรอบของ JBC รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ไทยกับกัมพูชาควรจะตกลงกันเพื่อคัดเลือกบริษัทที่จะทำการถ่ายภาพทางอากาศ รวมทั้งหาหลักเขตอีก ๒๐ กว่าหลัก ซึ่งหากทั้งสองประเทศพร้อมก็น่าจะเดินหน้าต่อไปได้ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรบกวนอาเซียนหรือสหประชาชาติ ทั้งนี้ เมื่อการเจรจามีความคืบหน้าแล้ว ก็สามารถแจ้งให้มิตรประเทศทั้งหลายทราบได้ ซึ่งการบรรยายสรุปให้กับคณะทูตประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศไทย ฝ่ายไทยดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว ขณะนี้จึงอยู่ที่ว่านายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะตัดสินใจมาร่วมมือกันหรือไม่

รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใส และประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อดำเนินการใด ๆ แล้ว ก็ต้องชี้แจงต่อสาธารณชนและต่อรัฐสภาทราบ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและมีกลไกการดำเนินการอยู่ จึงขอให้ฝ่ายกัมพูชามาปรึกษาหารือกัน ทั้งสองประเทศควรทำตัวเป็นสมาชิกที่ดีของอาเซียนและสหประชาชาติ และไม่ทำตัวให้เป็นภาระ แต่มาร่วมมือกันเพื่อรักษาสันติภาพและช่วยกันสร้างประชาคมอาเซียน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ