ผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

ข่าวต่างประเทศ Monday February 21, 2011 07:37 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันเดียวกันที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเตรียมการการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการฯ และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตลอดจน ผู้บัญชาการทหารบก และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมด้วย

รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมที่กรุงจาการ์ตาในครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้ขอให้รัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาหารือกัน ในระดับทวิภาคีในเรื่องของเขตแดน โดยมีอาเซียนทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว ฝ่ายไทยจะยืนยันความพร้อมที่จะใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่กับกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ซึ่งมีอดีตเอกอัครราชทูตอัษฎา ชัยนามเป็นประธานของฝ่ายไทย คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ซึ่งเป็นกลไกระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศ และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ซึ่งเป็นกลไกระหว่างแม่ทัพภาคที่ ๒ ของไทยกับผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ ๔ ของกัมพูชา และจะถือโอกาสชี้แจงต่อที่ประชุมอาเซียนด้วยว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการภายใต้กลไกเหล่านี้มีความคืบหน้ามาโดยตลอดและอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ UNSC และเป็นความประสงค์ของไทย

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตอัษฎาฯ ได้มีหนังสือถึงประธาน JBC ฝ่ายกัมพูชา เพื่อเชิญเข้าร่วมประชุม JBC ที่กรุงเทพฯ แล้ว ซึ่งเป็นการยืนยันจากที่ก่อนหน้านี้เคยได้รับความเห็นชอบในหลักการจากนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือกัมพูชา ส่วนการประชุม GBC นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะได้มีหนังสือถึง พล.อ.เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เพื่อขอให้กัมพูชาจัดการประชุม GBC ที่ราชอาณาจักรกัมพูชาในโอกาสแรก เนื่องจากเป็นวาระที่ฝ่ายกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพ

สำหรับการพบปะระหว่าง พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก กับ พล.ท. ฮุน มาเนต รองผู้บัญชาการทหารบกกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า การพบปะระหว่างฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศเป็นการพูดคุยปรึกษาหารือระหว่างกันเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเจรจา ซึ่งผลที่ได้จากการหารือก็ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และหวังว่าจะมีการประชุม GBC ในโอกาสแรก เพื่อหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ ส่วนการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการคงต้องไปหารือกันในที่ประชุม GBC

นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ฝ่ายไทยจะเสนอความพร้อมของไทยที่จะให้รัฐบาลอินโดนีเซียส่งผู้สังเกตการณ์มาอยู่กับกองกำลังทหารไทยบริเวณชายแดนที่มีการปะทะกันเมื่อระหว่างวันที่ ๔-๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เพื่อเป็นการยืนยันว่าไทยไม่เคยและจะไม่เป็นฝ่ายเริ่มยิงก่อน และหวังว่าฝ่ายกัมพูชาจะดำเนินการเช่นเดียวกัน เพื่อให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีการปะทะกันด้วยอาวุธอีก

สำหรับการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนาง Irina Bokova ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า โดยทั่วไป UNESCO มีความเห็นสอดคล้องกับท่าทีของไทยว่า ไม่ควรมีกองกำลังทหารอยู่ในบริเวณปราสาทพระวิหาร ส่วนกรณีที่ UNESCO ต้องการส่งผู้แทนพิเศษมานั้น ในหลักการคงสามารถตอบรับได้ แต่ต้องรอหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการจาก UNESCO ก่อนว่าขอบเขตหน้าที่ของผู้แทนพิเศษดังกล่าวคืออะไร และหากตกลงกันได้ ก็คงจะได้มีการปรึกษาหารือกันที่กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีว่าการฯ แจ้งเพิ่มเติมด้วยว่า ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ กระทรวงกลาโหมจะนำคณะผู้ช่วยทูตทหารของอาเซียนและประเทศที่เกี่ยวข้องเดินทางไปที่ชายแดนใกล้บริเวณที่มีการปะทะ เพื่อดูว่าพลเรือนทั่วไปได้รับผลกระทบอย่างไร

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ