รัฐมนตรีว่าการฯ ชูบทบาทไทยในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๑๖

ข่าวต่างประเทศ Friday March 4, 2011 07:21 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council — HRC) สมัยที่ ๑๖ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ณ นครเจนีวา เพื่อชูบทบาทของไทยในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมประชาธิปไตย ตามคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ให้ไว้เมื่อไทยได้เข้าเป็นสมาชิก HRC

ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำถึงความภาคภูมิใจของไทยที่ได้รับความไว้วางใจจากบรรดาประเทศสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งประธาน HRC ในช่วงที่ HRC กำลังเข้าสู่การทบทวนสถานะและการดำเนินงานของตนเอง และในช่วงที่มีการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยหวังว่า HRC จะได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน บนพื้นฐานของการหารือและความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ การแสวงหาจุดร่วมระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อการบรรลุฉันทามติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการให้ความสำคัญกับประเด็นท้าทายต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน อย่างเท่าเทียมกัน

รัฐมนตรีว่าการ ฯ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการส่งเสริมประชาธิปไตย ความอดทนอดกลั้น การไม่ใช้ความรุนแรง และการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินควบคู่ไปกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และย้ำถึงความสำคัญที่คณะมนตรีฯ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อหยุดยั้งลัทธิเผด็จการในทุกรูปแบบ และการมีความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงความคืบหน้าการดำเนินงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ทั้งในเรื่องการสอบสวนความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย การพยายามลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ความคืบหน้าของแผนปรองดองแห่งชาติ ๕ ข้อ และแผนปฏิรูปโครงสร้างของประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งนโยบายสวัสดิการ เพื่อให้บุคคลทุกกลุ่มในประเทศได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการปฏิบัติตามคำมั่นของไทยในการถอนข้อสงวนข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก การนำคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติการ และการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ HRC เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะทำให้การเป็นสมาชิก HRC มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศได้อย่างกว้างขวางที่สุด

ในการประชุม HRC สมัยที่ ๑๖ ประเทศไทยยังได้ส่งเสริมบทบาทด้านสิทธิของผู้ต้องขังหญิงและคนพิการ โดยจะจัดกิจกรรมคู่ขนานเพื่อแนะนำข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับ ผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) ภายใต้พระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ภายหลังจากที่ Bangkok Rules ได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติแล้ว เพื่อให้ได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ส่งนายมณเฑียร บุญตัน ผู้สมัครของไทยในตำแหน่งคณะกรรมการประจำอนุสัญญาสิทธิคนพิการ วาระปี พ.ศ. ๒๕๕๖ — ๒๕๕๙ เข้าร่วมกล่าวถ้อยแถลงในวาระที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมเป็นผู้อภิปรายในกิจกรรมคู่ขนานเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้พิการด้วย นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้แสดงความพร้อมที่ประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศภายใต้กลไก Universal Periodic Review ด้วย

ภายหลังการประชุม HRC สมัยที่ ๑๖ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เข้าร่วมการประชุม Conference on Disarmament (CD) ในวันอังคารที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ เพื่อกล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของกลุ่มประเทศผู้สังเกตการณ์ของ CD นอกจากนี้ จะได้พบหารือกับข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ และผู้แทนระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ