รัฐบาลไทยร่วมกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (เอสแคป) ตกลงที่จะขยายขอบเขตการดำเนินงานของกองทุนการจัดการเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมและรับมือกับภัยพิบัติประเภทอื่น ๆ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ดร. Noeleen Heyzer ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารเอสแคป ร่วมลงนามความตกลงฉบับแก้ไขของกองทุนการจัดการเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อขยายขอบเขตของการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมการรับมือกับภัยภิบัติประเภทอื่น ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ น้ำท่วม คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) ไซโคลน รวมถึงภัยธรรมชาติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเล ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
ในระหว่างพิธีการลงนามฯ นายกษิตฯ ได้กล่าวแก่ผู้ร่วมงานว่า เอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติสูงที่สุดในโลก อีกทั้งในปัจจุบันภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การขยายขอบเขตการดำเนินงานของกองทุนฯ จึงถือว่าอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และคาดว่าจะสามารถช่วยลดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติประเภทอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่าสึนามิได้
นอกจากนี้ นายกษิตฯ ยังยืนยันว่า ไทยได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเร่งการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเดียวกับในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย — แปซิฟิก (ARF) ซึ่งหันมาให้ความสนใจกับประเด็นด้านการบรรเทาภัยพิบัติเช่นกัน ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กิสในพม่า ไปจนถึงเหตุภัยพิบัติในเฮติและปากีสถานเมื่อปี ๒๕๕๓
อนึ่ง กองทุนการจัดการเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าฯ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๘ ภายหลังเหตุการณ์สึนามิบนชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน โดยมีรัฐบาลไทยและรัฐบาลสวีเดนเป็นผู้บริจาคหลักในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งต่อมา ได้รับการสนับสนุนทั้งในรูปแบบของเงินบริจาคและการสนับสนุนในรูปแบบอื่น ๆ จากรัฐบาลตุรกี เนปาล บังกลาเทศ และเนเธอร์แลนด์ เพื่อดำเนินโครงการและกิจกรรมในการเตรียมความพร้อมและการติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--