การปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับลิเบีย

ข่าวต่างประเทศ Monday March 28, 2011 08:13 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๐๐ น. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับท่าทีและพันธกรณีของไทยต่อข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับลิเบีย รวมถึงสถานะล่าสุดเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือคนไทยในลิเบีย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้รับรองข้อมติที่ ๑๙๗๐ (๒๐๑๑) เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เป็นฉันทามติให้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรโดยเฉพาะผู้นำลิเบีย เครือญาติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การคว่ำบาตรทางอาวุธ การห้ามเดินทาง การอายัดทรัพย์สิน และการเสนอให้นำเรื่องการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมชาวลิเบียโดยผู้นำลิเบียเข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมถึงการเรียกร้องให้มิตรประเทศสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวลิเบีย ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอข้อมติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยคณะรัฐมนตรีได้รับทราบ และมอบหมายให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียดการปฏิบัติของข้อมติดังกล่าว และรายงาน ให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานงาน ทั้งนี้ การปฏิบัติตามข้อมติดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายของไทยด้วย

๒. สำหรับการปฏิบัติตามข้อมติฯ ในประเด็นการคว่ำบาตรทางอาวุธนั้น ไทยมิได้เป็นประเทศที่ผลิตและค้าอาวุธ ดังนั้น ไทยจึงสามารถดำเนินการตามข้อมติในประเด็นดังกล่าวได้ทันที สำหรับประเด็นการห้ามเดินทางและการอายัดทรัพย์นั้น จะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อมติฯ

๓. สำหรับภาคธุรกิจระหว่างไทยกับลิเบียนั้น ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ หากการทำธุรกิจหรือธุรกรรมทางการเงินไม่มีความเชื่อมโยงกับผู้นำเลิบีย เครือญาติและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการของไทยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

๔. ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๔ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้รับรองข้อมติเกี่ยวกับลิเบีย ที่ ๑๙๗๓ (๒๐๑๑) เพิ่มเติม โดยมีประเด็นสำคัญ เช่น การให้อำนาจแก่รัฐสมาชิกสามารถดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งหมด รวมถึงการใช้กำลังเพื่อปกป้องประชาชนและพื้นที่ที่ประสบภัยจากการโจมตีในลิเบีย การกำหนดเขตห้ามบินในน่านฟ้าลิเบีย ยกเว้นการบินเพื่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การห้ามการบินของอากาศยานใดๆ ที่จดทะเบียนในลิเบียหรือมีเจ้าของหรือดำเนินการโดยคนชาติหรือบริษัทของลิเบียบินออกจากลงจอด หรือบินผ่านดินแดน และการอายัดทรัพย์สินบุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

๕. สำหรับข้อมติฯ ที่ ๑๙๗๓ (๒๐๑๑) ในประเด็นการปฎิบัติการกับกองกำลังผสมนั้น ขอย้ำและทำความเข้าใจว่า เนื่องจากข้อมติดังกล่าวให้อำนาจแก่รัฐสมาชิกสามารถดำเนินมาตรการที่จำเป็นและมีความพร้อม ดังนั้น รัฐสมาชิกที่ไม่มีความพร้อมหรือนโยบาย ก็ไม่จำเป็นต้องไปร่วมปฏิบัติการกับกองกำลังผสม สำหรับไทยนั้น รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะส่งกำลังทหารเข้าร่วมปฏิบัติการกับกองกำลังผสมในลิเบีย อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศจะนำข้อมติฯ ที่ ๑๙๗๓ (๒๐๑๑) เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า โดยย้ำว่าไทยมิได้มีพันธกรณีในการใช้กำลังทางทหารในลิเบีย

๖. สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์ความรุนแรงสิ้นสุดลงนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะได้พิจารณาการดำเนินการร่วมกับโครงการอาหารโลก (WFP) และสภากาชาดสากล

๗. สำหรับการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยนั้น ขณะนี้ มีแรงงานไทยเหลืออยู่ในลิเบียจำนวน ๘๑ คน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสงค์จะเดินทางออกจากลิเบียผ่านชายแดนลิเบีย-ตูนีเซีย หรือ ลิเบีย-อียิปต์

๘. ที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีข้อมติที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตรต่อประเทศต่างๆ รวม ๑๐ ประเทศ ได้แก่ โซมาเลีย อิรัก ไลบีเรีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โกตดิวัวร์ ซูดาน เลบานอน เกาหลีเหนือ อิหร่านและเอริเทรีย ซึ่งไทยก็ได้ปฏิบัติตามข้อมติเหล่านั้นมาโดยตลอด

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ