รัฐมนตรีต่างประเทศเผยขั้นตอนการดำเนินการต่อไปเกี่ยวกับการประชุม JBC ไทย-กัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Monday April 4, 2011 12:28 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการขั้นต่อไปในการแก้ไขปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชา สรุปสาระได้ ดังนี้

๑. ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวว่า ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องที่รัฐสภาขอให้ตีความว่าบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ๓ ฉบับเข้าข่ายเป็นสนธิสัญญาตามมาตรา ๑๙๐ วรรค ๒ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และส่งเรื่องคืนมายังรัฐสภานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร รัฐมนตรีว่าการฯ ตอบว่า คงเป็นเรื่องของรัฐสภา และเป็นเรื่องของนักกฎหมายจะต้องมาถกแถลงกันต่อไป ซึ่งก็อาจเป็นได้หลายทางคือ รัฐสภาต้องพิจารณาว่ามีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ เพราะสิ่งที่ฝ่ายบริหารได้เสนอเข้าไปก็คือ ขอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อบันทึกการประชุม JBC ๓ ฉบับ สภาก็ต้องลงมติ ถ้าไม่เห็นชอบ คือมีความเห็นต่างกัน ก็ต้องถามต่อไปว่าถือว่ามีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็มีช่องทางส่งกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนถ้าไม่ใช่เช่นนั้น รัฐสภาก็ต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ต้องมีการพิจารณาหรือลงคะแนนเสียงกัน ซึ่งก็ต้องไปดูขั้นตอนกฎเกณฑ์ในรัฐสภา

๒. รัฐมนตรีว่าการฯ ชี้แจงว่า ตามที่ตนเข้าใจ ศาลรัฐธรรมนูญยังมิได้บ่งชี้ว่าบันทึกการประชุม JBC เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายมาตรา ๑๙๐ โดยศาลแถลงเพียงว่า ยังไม่ได้มีข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในชั้นนี้ จึงยังไม่ถึงขั้นที่ศาลจะพิจารณา แต่คำถามที่จะถามกลับไปก็คือ เมื่อฝ่ายบริหารเสนอไปให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อบันทึกการประชุม JBC ฝ่ายรัฐสภาเมื่อได้ฟังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องถามว่า สภามีความขัดแย้งต่อข้อเสนอของฝ่ายบริหารหรือไม่ นี่คือประเด็นกฎหมายที่ต้องถกกันในสภาโดยนักกฎหมาย ถ้ารัฐสภารับในสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งคืนมา รัฐสภาก็ต้องตัดสินใจที่จะพิจารณาอย่างไรกับบันทึกการประชุม ๓ ฉบับนี้

๓. รัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำยืนยันว่า ข้อกังวลเกี่ยวกับการที่บันทึกผลการประชุม JBC ดังกล่าวจะทำให้เกิดการเสียดินแดนหรือมีข้อผูกมัดต่าง ๆ นั้น ไม่มี ไม่เคยเป็นข้อกังวลมาตั้งแต่ต้น มีเพียงบางส่วนบางหมู่เหล่าของสังคมไทยได้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ตนได้พูดมาตั้งแต่ต้นและตลอดมาว่า ไทยคัดค้านแผนที่ระวางดงรัก ได้คัดค้านตั้งแต่ตอนที่ไปศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ และรัฐบาลชุดนี้ก็ยังยืนยันท่าทีนั้นอยู่ อนึ่ง ยังมีการเจรจากันอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา ในเมื่อการเจรจายังไม่แล้วเสร็จจะมีใครในสังคมไทยหรือในกัมพูชาสามารถพูดได้อย่างไรว่าได้มีข้อยุติแล้วในเรื่องของดินแดน เรื่องยังไม่เสร็จก็ต้องเจรจาต่อไป เพราะฉะนั้นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนนั้น ตนคิดว่าทำให้เกิดความสับสนโดยที่ไม่มีประโยชน์อันใด

๔. ต่อคำถามเกี่ยวกับการไปประชุมที่อินโดนีเซีย ทั้งการประชุม JBC และการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปหรือ GBC รวมทั้งเรื่องของผู้สังเกตการณ์อินโดนิเซียนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ เห็นว่า สื่อไม่ควรใช้คำแยกว่าเป็น “ฝ่ายทหาร” หรือ “ฝ่ายพลเรือน” ขอให้เรียกว่าฝ่ายรัฐบาลดีกว่า เพราะทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและตนก็อยู่ในรัฐบาลเดียวกัน มีการพบปะหารือกันตลอดเวลา ท่าทีของเราคือ ยังเจรจากับกัมพูชาอยู่ในเรื่องจุดที่ตั้งที่จะวางกองกำลังของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย ทั้งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะหารือกับฝ่ายกัมพูชาให้มากที่สุดหรือให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ว่าจะจัดวางผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียฝ่ายละ ๑๕ คนไว้จุดใด แล้วจึงค่อยไปประชุมตกลงกันขั้นสุดท้ายในกรอบของที่ประชุม GBC เรื่องยังปรึกษาหารือกันอยู่ มีการติดต่อกันอยู่โดยฝ่ายกระทรวงกลาโหมทั้ง ๒ ฝ่าย

ในส่วนของการประชุม GBC โดยฝ่ายทหารทั้ง ๒ ประเทศนั้น โดยที่กัมพูชาจะต้องเป็นเจ้าภาพการประชุม GBC ครั้งที่ ๗ กระทรวงกลาโหมไทยก็ยังหวังว่าจะให้ไปจัดประชุมที่กัมพูชา แต่ฝ่ายกัมพูชาต้องการไปประชุมที่เมืองโบกอร์ตามคำเชิญของอินโดนีเซีย จึงเป็นเรื่องที่กำลังพูดจากันอยู่ ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีการประชุม JBC ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบและรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ตอบรับไปแล้วว่าไทยจะไปร่วมประชุม JBC ที่อินโดนีเซีย เนื่องจาก JBC ไม่ได้มีเรื่องที่จะต้องหารือกันล่วงหน้า เช่น เรื่องว่าจะกำหนดให้กองสังเกตการณ์ของอินโดนีเซียอยู่ที่ใด

รัฐมนตรีว่าการฯ ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ว่าการประชุม JBC หรือ GBC ก็ตาม จะเป็นการประชุมสองฝ่ายระหว่างไทยกับกัมพูชาเท่านั้น จะไม่มีฝ่ายอินโดนีเซียในห้องประชุมเลย อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก จะไม่มีฝ่ายที่ ๓ ใดอยู่ในห้องประชุมอีก ขอให้ไม่มีความสับสนในเรื่องนี้

๕. ต่อคำถามของสื่อมวลชนว่า แสดงว่า ทางกองทัพไทยติดอยู่เพียงเงื่อนไขที่ว่า การกำหนดจุดที่ตั้งของคณะผู้สังเกตการณ์ให้ชัดเจนก่อนใช่หรือไม่ และในขณะนี้ฝ่ายไทยเราพร้อมรับผู้สังเกตการณ์หรือไม่ หรือได้กำหนดจุดที่ตั้งในฝั่งไทยให้คณะผู้สังเกตการณ์หรือยัง รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่าอธิบดีกรมสัญญาและกฎหมายได้หารืออยู่กับฝ่ายทหารไทยโดยตลอด ตนไม่ทราบข้อมูลล่าสุด แต่ฝ่ายไทยคงจะกำหนดไว้แล้วว่าจะให้คณะผู้สังเกตการณ์อยู่ที่ไหน แต่จะต้องรู้เขารู้เรา ต้องรู้ด้วยว่าทางฝั่งกัมพูชานั้นจะกำหนดให้ผู้สังเกตการณ์ตั้งอยู่ที่ไหนหากไปอยู่กันคนละพื้นที่แล้วเกิดมีการปะทะกันอีก จะตรวจสอบกันได้อย่างไร อันที่จริง ฝ่ายกัมพูชาได้แจ้งเสนอจุดที่ตั้งมาแล้ว ๑๕ จุด แต่เป็นจุดที่อยู่ในเขต ๔.๖ ตารางกิโลเมตรซึ่งเราถือว่าเป็นดินแดนไทย ผู้สังเกตการณ์จึงจะอยู่ในเขตนั้นไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเจรจาต่อรองกัน เรารู้แล้วว่าท่าทีของกัมพูชาเป็นอย่างไร เราได้พิจารณาและปฏิเสธไปแล้ว ๑ เรื่อง คือห้ามอยู่ในเขตพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ส่วนรายละเอียด ทหารทั้งสองฝ่ายก็ต้องว่ากันต่อไป ยังมีเวลาอีก ๗ วัน ก่อนจะถึงวันที่ ๗ เมษายนซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการประชุม

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ