เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลีครั้งที่ ๔ ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ย้ำว่า การต่อต้านการค้ามนุษย์ถือเป็นวาระที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วยตนเอง และล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (พ.ศ. ๒๕๕๔ — ๒๕๕๙) นอกจากนี้ ไทยยังเล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกับนานาประเทศ โดยได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกหรือเครือข่ายสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อการประสานงานระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
ในที่ประชุมฯ ฝ่ายไทยยังได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบขนคนเข้าเมือง และอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเห็นด้วยกับการยกระดับความสำคัญของการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในลักษณะการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ตลอดจนยังได้ชี้ให้ที่ประชุมฯ เห็นความแน่วแน่ของไทยในการจัดการกับสามปัญหาข้างต้นในระดับอาเซียนเช่นกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยรับมือกับปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาการลักลอบขนคนเข้าเมือง โดยพิจารณาการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในประเทศต้นทางเป็นสำคัญ เพื่อป้องกันมิให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อหรือหันไปอาศัยบริการของขบวนการค้ามนุษย์ในการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศอื่น นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การควบคุมชายแดน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างครอบคลุมและแบ่งรับภาระร่วมกัน โดยเมื่อวันที่ ๙ — ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจระดับอาวุโส (Ad Hoc Group SOM) และที่ประชุมเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโส (SOM) ได้เสนอให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งนี้พิจารณารับรองหลักการให้มีกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค ตามแนวเอกสารหารือของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และของฝ่ายออสเตรเลีย ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมืออย่างกว้างสำหรับบรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบหรือสนใจประเด็นปัญหาดังกล่าวในการนำไปพิจารณาในรายละเอียดและปรับใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคนี้ จะอยู่บนฐานของความสมัครใจของประเทศสมาชิกเป็นสำคัญ
อนึ่ง การประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลีได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยมี ๓๘ประเทศสมาชิก ประกอบด้วยประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง เข้าร่วมการประชุม ซึ่งต่อมาได้ขยายจำนวนสมาชิกเป็น ๔๓ ประเทศ โดยมีองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมด้วย อาทิ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประธานร่วมในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลีครั้งที่ ๔ ครั้งนี้ คือ ออสเตรเลียและอินโดนีเซีย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--