การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ยุติลงด้วยดีและมีผลคืบหน้า

ข่าวต่างประเทศ Monday April 11, 2011 08:06 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๔ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนผ่านทางโทรศัพท์เกี่ยวกับผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ระหว่างวันที่ ๗-๘ เมษายน ๒๕๕๔ ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ว่า โดยภาพรวม การประชุมดำเนินไปด้วยดีและมีผลการประชุมเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ การประชุม JBC เริ่มเวลา ๑๔.๐๐ น. ของวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ โดยเอกอัครราชทูตอัษฎา ชัยนาม ประธาน JBC ฝ่ายไทย ในฐานะเจ้าภาพการประชุม ได้กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม จากนั้น นายวาร์ คิม ฮง รัฐมนตรีอาวุโสและที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาผู้รับผิดชอบด้านกิจการชายแดน ประธาน JBC ฝ่ายกัมพูชา กล่าว และชี้แจงในประเด็นอื่น ๆ สรุปสาระสำคัญของการประชุมได้ดังนี้

๑. ฝ่ายไทยแจ้งให้ที่ประชุมฯ ทราบเกี่ยวกับกระบวนการกฎหมายภายในของไทยเพื่อพิจารณาบันทึกผลการประชุม JBC ที่ผ่านมาทั้ง ๓ ฉบับ และแม้ว่าฝ่ายกัมพูชาจะทราบเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของไทยอยู่แล้ว แต่ในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้แสดงความเข้าใจมากขึ้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเจตนาของฝ่ายไทยที่จะถ่วงเวลาและฝ่ายไทยมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา รวมทั้งแสดงความหวังว่าบันทึกผลการประชุมฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้โดยเร็ว ซึ่งฝ่ายไทยยืนยันว่า รัฐบาลจะพยายามดำเนินการโดยเร็วที่สุด

๒. ที่ประชุมฯ พิจารณาเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการต่อไปใน ๓ ประเด็น ได้แก่ (๑) การเตรียมการส่งชุดสำรวจร่วมลงพื้นที่ส่วนที่ ๕ ระหว่างหลักเขตที่ ๑ — ๒๓ (ช่องสะงำ — ปราสาทตาเมือน) โดยขอให้ทั้งสองฝ่ายเตรียมความพร้อมของชุดสำรวจของตน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อรัฐสภาพิจารณาเห็นชอบบันทึกผลการประชุม JBC ทั้ง ๓ ฉบับแล้ว (๒) การจัดเตรียมขั้นตอนเพื่อคัดเลือกบริษัทจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ (Orthophoto maps) ซึ่งฝ่ายไทยยืนยันว่า ในหลักการควรเป็นบริษัทในประเทศที่สามอย่างแท้จริงและไม่มีความผูกพันกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยที่ประชุมฯ มีการยกตัวอย่างประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเดนมาร์ก และขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพิจารณาว่าประเทศใดมีความเชี่ยวชาญและมีความเป็นกลาง เพื่อให้ที่ประชุมฯ พิจารณาดำเนินการต่อไปหลังจากบันทึกผลการประชุม JBC ทั้ง ๓ ฉบับผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังเสนอให้ทั้งสองประเทศช่วยกันศึกษาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะช่วยให้กระบวนการถ่ายภาพทางอากาศมีความชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกันในการประชุม JBC ครั้งต่อไป และ (๓) การเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการตามมติข้อที่ ๔๘ ของที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (JC) ครั้งที่ ๗ ที่จังหวัดเสียมราฐ ซึ่งระบุให้ JBC ศึกษาเกี่ยวกับการเปิดจุดผ่อนปรนเพิ่มเติมบริเวณบ้านหนองเอี่ยน ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ตามที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้หารือกันไว้ และมอบให้ชุดสำรวจของทั้งสองฝ่ายสำรวจพื้นที่และเสนอที่ตั้งของจุดผ่านแดนในฝั่งของตน แล้วตรวจสอบว่าทั้งสองฝ่ายยอมรับได้หรือไม่ จากนั้นจึงจะนำเสนอให้ที่ประชุมฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่งตามขั้นตอนที่ได้รับอนุมัติต่อไป

ตามที่สื่อมวลชนแสดงความสนใจเกี่ยวกับรูปแบบและวาระของการประชุมว่าเป็นลักษณะของการประชุมทวิภาคีหรือไม่ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๔ มีการเตรียมการเกี่ยวกับวาระของการประชุมตามที่ฝ่ายไทยกับฝ่ายกัมพูชาได้เสนอมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียช่วยประสานระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อให้ได้ผลสรุปของวาระของการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว วาระของการประชุมในครั้งนี้ก็เป็นในลักษณะที่ฝ่ายไทยได้เสนอตั้งแต่ต้น โดยฝ่ายอินโดนีเซียไม่ได้เข้ามาแทรกแซงในสาระของการประชุมหรือวาระของการประชุมแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องรูปแบบของการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียรับทราบถึงความละเอียดอ่อนในเรื่องนี้ และเข้ามาเกี่ยวข้องเฉพาะในเรื่องของการจัดเตรียมสถานที่ประชุมและดูแลจัดหาอาหารให้ผู้เข้าร่วมประชุมในบางมื้อ รวมทั้งให้การต้อนรับคณะผู้แทนไทยและกัมพูชาบริเวณหน้าห้องประชุมเท่านั้น จากนั้นคณะผู้แทนของทั้งสองประเทศก็เดินเข้าห้องประชุม และเปิดการประชุมโดยประธาน JBC ฝ่ายไทย ดังนั้น รูปแบบการประชุม JBC ในครั้งนี้จึงเป็นการประชุมทวิภาคีโดยแท้ และไม่ได้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้ามาแทรกแซง จึงไม่มีความจำเป็นที่ทั้งสองประเทศจะต้องรายงานผลการประชุมให้ฝ่ายอินโดนีเซียทราบ ซึ่งตามวาระแล้ว การประชุมครั้งนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ แต่ใช้ประเทศที่สามเป็นสถานที่ประชุม สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ฝ่ายไทยยืนยันว่า ควรกลับสู่แนวทางที่ได้ปฏิบัติมาเนื่องจากกระบวนการทวิภาคีเดินหน้าได้ตามปกติแล้ว

ต่อข้อซักถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการส่งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียมาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการฯ จะเดินทางถึงกรุงจาการ์ตาในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๔ และจะได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งอาจจะหารือกับฝ่ายกัมพูชาด้วย ซึ่งตามที่รัฐมนตรีว่าการฯ เคยให้สัมภาษณ์แล้วว่า ผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียต้องไม่ติดอาวุธ และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ฯ จะต้องอยู่นอกบริเวณพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ปฏิบัติตามคำแนะนำของฝ่ายไทย และไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกระทบต่ออธิปไตยของไทย ซึ่งฝ่ายไทยจะยืนยันกับฝ่ายอินโดนีเซีย และเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะเสนอให้ฝ่ายกัมพูชาพิจารณาต่อไป

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ