รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าในประเด็นความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Monday April 11, 2011 08:08 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สำนักงานเลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ โดยได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการต่าง ๆ ในประเด็นความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า ภายในคืนวันนี้ (๙ เมษายน ๒๕๕๔) ตนจะพบหารือกับ ดร. มาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย แต่คงเป็นที่ทราบกันแล้วว่าเมื่อวันที่ ๗-๘ เมษายน มีการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC นำโดยเอกอัครราชทูตอัษฎา ชัยนาม มีบันทึกการหารือออกมา ก็มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง.ที่สำคัญคือการประชุมสองฝ่ายได้มีขึ้นได้หลังจากขาดตอนไปนาน ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาลอินโดนีเซียที่ได้ช่วยอำนวยให้มีการประชุมสองฝ่ายเกิดขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นได้แล้วก็มีต่อ ๆ ไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องเวียนไปจัดตามเมืองหลวงอื่น ๆ ของประเทศอาเซียน สามารถสลับกันจัดในกรุงเทพฯ และกรุงพนมเปญต่อไปได้ตามปกติ กลับไปใช้แนวทางเหมือนเดิม หากยังมีปัญหาในรายละเอียดอะไรต้องทำก็ทำงานกันต่อไป

๒ . สำหรับประเด็นที่ทางการพนมเปญได้ให้สัมภาษณ์แสดงความผิดหวังที่รัฐมนตรีต่างประเทศไทยไม่ไปร่วมการเจรจา รัฐมนตรีว่าการฯ ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ JBC โดยตรง เป็นหน้าที่ของเอกอัครราชทูตอัษฎาฯ เรามีคณะเจรจาอยู่แล้ว ส่วนคณะกรรมการชายแดนทั่วไปหรือ GBC ของฝ่ายทหาร ซึ่งดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยบริเวณชายแดนนั้น ก็ได้มีการปรึกษาหารือกันในฝ่ายไทย คือ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง (สุเทพ เทือกสุบรรณ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก มีความเห็นกันว่า GBC คงจะไม่เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับร่างข้อกำหนดหน้าที่ของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียหรือ TOR ทุกอย่างปล่อยให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้เจรจาได้ ส่วนการประสานงานภายในระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงการต่างประเทศนั้นก็ได้ดำเนินการมาตลอดเวลา ซึ่งผลงานของกระทรวงกลาโหมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศในเรื่อง TOR นี้นั้น ล่าสุดตนเพิ่งมีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวานนี้ (๘ เมษายน) หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศได้ทำงานร่วมกับทหารไทยแทบทุกวันว่า จะต้อนรับคณะผู้สังเกตการณ์อย่างไร ส่วน GBC ก็ไปทำเรื่องอื่น คือการรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และอาชญากรรม ฯลฯ และเมื่อใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งไทยและกัมพูชา (ในฐานะประธานร่วมของ GBC) พร้อมที่จะเจรจากันก็เจรจาไป แต่ GBC จะไม่โยงกับประเด็น TOR ของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย

๓. เมื่อผู้สื่อข่าวแสดงความเห็นว่า ดูเหมือนทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างก็ยังยืนยันในท่าทีที่แต่ละฝ่ายยึดถืออยู่ รัฐมนตรีว่าการฯ เห็นว่าก็เป็นเรื่องที่จะมาเจรจาต่อรองกัน ไม่ใช่ม้วนเดียวจบ อาจจะยาวเหมือนภาพยนตร์หลายสิบม้วน ในชั้นนี้ก็ถือว่าเริ่มต้นฉายม้วนแรกกันได้แล้วหลังจากขาดตอนกันมานาน ก็คืบหน้ากันไปได้หนึ่งคืบ เมื่อมีการพบกันอีกครั้งหนึ่งก็ค่อยๆ คืบหน้าไปได้อีกสองคืบสามคืบต่อไป ในกระบวนการภายในของไทยเองในสัปดาห์หน้าทางรัฐสภาก็ยังต้องพิจารณาเรื่องบันทึกผลการประชุม JBC สามฉบับต่อไป

๔. ต่อกรณีที่นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาได้แสดงความเห็นว่า ไม่ทราบว่าจะต้องฟังรัฐบาลไทยหรือฟังทหารไทยกันแน่ รัฐมนตรีว่าการฯ แจ้งว่า อย่าไปฟังอย่างนั้น ประเทศไทยเป็นสังคมเปิด ไม่ใช่สังคมเผด็จการ ไทยเป็นสังคมแห่งความหลากหลาย ตนคิดว่าทุกหมู่เหล่าในสังคมไทยสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ตนได้ประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งไม่ใช่การประชุมครั้งแรก ได้มีประชุมพบปะกันหรือติดต่อกันมาแล้วหลายครั้งแทบทุกสัปดาห์ แต่มีบางสิ่งที่ไม่สามารถพูดให้สื่อฟังได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรึกษาหารือ มีการสื่อสารปรับเข้าหากันไปมา จึงได้มีข้อยุติว่าในเรื่องของ TOR ให้กระทรวงการต่างประเทศ เจรจา โดยมีการประสานงานภายในกันในฝ่ายไทย โดยเฉพาะระหว่างกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทยที่ดูแลชายแดนกับกระทรวงการต่างประเทศ มาโดยตลอด ไทยเป็นสังคมเปิด ไม่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะทำอะไรก็ตาม ก็ต้องไปชี้แจงที่รัฐสภา และที่คณะรัฐมนตรี ต้องตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านไปยังประชาชน ความเห็นหลากหลายในสังคมไทยเป็นสิ่งดีงามที่เราควรภูมิใจ ไม่ใช่จุดอ่อนแต่เป็นจุดแข็งของสังคมประชาธิปไตยที่แสดงความเห็นได้เต็มที่ แม้อาจจะมีความเห็นแตกต่างกันบ้างหรือสื่อมวลชนรายงานความคิดเห็นของบางฝ่ายในลักษณะที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันบ้างก็ไม่เป็นไร สามารถมานั่งคุยกันได้

ในเรื่องของการกำหนดจุดที่ตั้งของคณะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งมีบางฝ่ายสอบถามว่าท่าทีในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างไรนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ย้ำว่า เรื่องนี้ไม่มีคำว่า “กระทรวงการต่างประเทศ” แยกออกมาเช่นนั้น แม้ว่าผู้เจรจาคือกระทรวงการต่างประเทศก็ตาม แต่เมื่อเจรจาเสร็จมาแล้วก็เป็นมติคณะรัฐมนตรี ต้องนำเข้าหารือในคณะรัฐมนตรี รัฐบาลไทยชุดนี้เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจหรือทหารก็ตาม ทุกคนอยู่ในแถว ไม่มีใครออกนอกแถว รัฐบาลจะทำอะไรก็มีมติคณะรัฐมนตรี มีการกำกับโดยรัฐสภาและประชาชน มีสื่อ มีนักวิชาการคอยตรวจสอบตลอดเวลา ขอให้มั่นใจในกระบวนการประชาธิปไตยของเรา

๕. ต่อคำถามที่ว่าการพบหารือกับฝ่ายอินโดนีเซียในคืนนี้จะได้ข้อยุติในเรื่องบทบาทหน้าที่ รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับการส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียหรือไม่อย่างไร รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า คงจะเป็นเรื่องการเจรจาที่ยังดำเนินอยู่ ยังไม่แล้วเสร็จ จะต้องหารือกันในหลักการต่าง ๆ เช่น เรื่องเกี่ยวกับเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูตของผู้สังเกตการณ์ และรายละเอียดอื่น ๆ เช่นการที่จะรับคณะผู้สังเกตการณ์ ให้เขาพักที่ไหน ดูแลกันอย่างไร เนื่องจากเป็นการดำเนินการในระยะยาว ไม่ใช่เรื่องที่ใช้เวลาสั้น ๆ อนึ่ง สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ ก็เป็นที่น่ายินดีและต้องชมเชยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยว่า ตั้งแต่วันที่ ๗ กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ก็มีความสงบเรียบร้อยดีตลอดแนวชายแดน การทำมาค้าขายสองฝ่ายก็ยังเป็นปกติ หากเรารักษาสถานการณ์ไปได้อย่างนี้ ทั่วโลกก็มีความสบายใจเหมือนกับยกภูเขาออกจากอกได้ ทั้งนี้ ทั้งไทยและกัมพูชาต้องมองภาพรวมด้วยว่าเรามีพันธกรณีต่ออาเซียนที่จะต้องทำให้เกิดสันติภาพและความสงบสุขขึ้น และขอย้ำว่าเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลชุดนี้ที่ต้องการเห็นความเจริญ ความมั่งคั่ง ความกินดีอยู่ดีของพี่น้องชาวกัมพูชาและชาวไทยตลอดแนวชายแดนกว่า ๗๙๐ กิโลเมตร ตนขอเน้นด้วยความบริสุทธิ์ใจเช่นนี้ว่ารัฐบาลมีความจริงใจและไม่มีความประสงค์ร้ายใดๆ ต่อประชาชนชาวกัมพูชา ขอให้มั่นใจในเรื่องนี้

๖. สำหรับคำถามที่ว่า ฝ่ายไทยจะหารือกับนายฮอร์ นำฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา (ซึ่งได้มาร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศาด้วย) ในคืนนี้ด้วยหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ชี้แจงว่าไม่ต้อง เพราะเป็นเรื่องระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง ถ้าหากอินโดนีเซียจะนำผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย ๑๕ คนเข้ามาในพื้นที่ไทย ส่วนเรื่องของกัมพูชากับอินโดนีเซียก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แน่นอนอินโดนีเซียก็ต้องไปหารือโดยตรงกับฝ่ายกัมพูชา แต่เนื้อหา TOR ทั้งสองก็ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในชั้นนี้ อย่างน้อยได้มีความเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า จะไม่มีการส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปในพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ในหลักการก็ตกลงกันได้อย่างนั้นแล้ว อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสำคัญ เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ฝ่ายกัมพูชามีท่าทีเห็นด้วยกับประเด็นนี้แน่นอนแล้วหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการฯ ก็แจ้งว่าเป็นไปตามข้อมูลเท่าที่ได้ทราบจากทางฝ่ายอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ฝ่ายไทยไม่ได้มีปัญหาว่าผู้สังเกตการณ์จะต้องไม่ใช่ทหารหรือกองกำลัง ก็เป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นทหารหรือเป็นพลเรือน

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ถ้าเช่นนี้ก็จะไม่มีความจำเป็นต้องมีการประชุมสามฝ่าย (ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย) ในคืนนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยืนยันว่าไม่เคยมีข้อเสนอเช่นนั้น ฝ่ายไทยไม่เคยเสนอการพบปะหารือสามฝ่าย และที่ได้เป็นข่าวออกมาก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ออกจากฝ่ายไทย หากมีเรื่องที่จะต้องหารือกันสามฝ่ายจึงจะมีการประชุมสามฝ่าย แต่ ณ วันนี้ ประเด็น TOR เป็นเรื่องระหว่างไทยกับอินโดนีเซียเรื่องหนึ่ง และอินโดนีเซียกับกัมพูชาอีกเรื่องหนึ่ง แต่หากอยากจะนั่งสังสรรค์หารือกันสามฝ่ายในเรื่องอื่น ๆ ก็ทำได้ ไม่มีปัญหาใดๆ เนื่องจากการติดต่อหารือกันสามารถทำได้ทั้งในรูปแบบการประชุมในรอบ และการหารือนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ