เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชา โดยเฉพาะเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
๑. ขณะที่ชุดลาดตระเวนของไทยกำลังลาดตระเวนพื้นที่บริเวณปราสาทตาควายได้พบว่ามีกองกำลังทหารกัมพูชาพร้อมอาวุธล้ำเข้ามาในพื้นที่และเข้าไปในปราสาทตาควาย ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายที่ให้กองกำลังทหารอยู่ห่างกันประมาณ ๑๐๐ เมตร และไม่ให้มีกองกำลังเข้าไปในปราสาท จึงได้ขอให้ฝ่ายกัมพูชากลับออกไป แต่ฝ่ายกัมพูชากลับยิงใส่ฝ่ายไทย จนทำให้เกิดการปะทะกันตั้งแต่เวลา ๐๖.๓๐ — ๐๙.๓๕ น. ของวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔
๒. การดำเนินการของฝ่ายไทยเป็นไปเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดน รวมทั้งปกป้องประชาชนในพื้นที่ ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลการอพยพและความเป็นอยู่ของประชาชนออกจากพื้นที่ปะทะ
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะได้มีหนังสือประท้วงถึงรัฐบาลกัมพูชา โดยจะเรียกให้นางยู ออย เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย มารับหนังสือประท้วงดังกล่าว และกระทรวงฯ จะได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวให้ประชาคมโลกเข้าใจและไม่ให้กัมพูชาละเมิดอธิปไตยของไทย รวมทั้งเรียกร้องให้มีการหารือกันในระดับพื้นที่ภายใต้กรอบของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว และทราบว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้ฝ่ายทหารจัดการประชุม RBC และ GBC ในโอกาสแรก เพื่อให้มีการดูแลความปลอดภัยตลอดแนวชายแดน เพราะประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และเมื่อทั้งสองประเทศต่างก็ต้องการให้เกิดความสงบสุขตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จึงยังอยู่ในวิสัยที่จะพูดคุยกันและอาศัยกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ได้ โดยไม่ต้องให้อาเซียนหรือสหประชาชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง
๓. บริเวณปราสาทตาควายที่เกิดเหตุการณ์ปะทะในครั้งนี้อยู่ในพื้นที่ส่วนที่ ๕ ระหว่างหลักเขตที่ ๑-๒๓ ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารประมาณ ๑๔๐ กิโลเมตรหากวัดระยะทางเป็นเส้นตรง หรือ ๑๙๐ กิโลเมตรหากวัดระยะทางตามแนวสันปันน้ำ ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) เมื่อวันที่ ๗-๘ เมษายน ๒๕๕๔ ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการหารือเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการส่งชุดสำรวจไปในพื้นที่ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไปเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่กลับสู่สภาวะปกติแล้ว
๔. ในช่วงที่ผ่านมา การเจรจาเขตแดนมีความคืบหน้าหลายประการ เป็นต้นว่า เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๔ รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาบันทึกผลการประชุม JBC ทั้ง ๓ ฉบับ ซึ่งระบุเกี่ยวกับการเจรจาเขตแดนและท่าทีของไทยในเรื่องนี้ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ถอนบันทึกผลการประชุม JBC ทั้ง ๓ ฉบับออกจากรัฐสภา สืบเนื่องจากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งได้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าบันทึกผลการประชุม JBC ดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๙๐ วรรค ๒ หรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นให้จำหน่ายคดี ซึ่งเป็นการแสดงว่ากระบวนการเจรจาของฝ่ายบริหารยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่ต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณา นอกจากนี้ ในการประชุม JBC เมื่อวันที่ ๗-๘ เมษายน ๒๕๕๔ ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ไทยกับกัมพูชายังได้หารือกันเกี่ยวกับการเตรียมการส่งชุดสำรวจร่วมลงพื้นที่ส่วนที่ ๕ (หลักเขตที่ ๑-๒๓) รวมทั้งการจัดเตรียมขั้นตอนเพื่อคัดเลือกบริษัทจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งเป็นการยืนยันว่ากลไกทวิภาคียังดำเนินอยู่และมีความคืบหน้า
๕. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียทราบแล้ว เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในกรอบของอาเซียน เพราะบริเวณที่เกิดเหตุการณ์ปะทะครั้งนี้ห่างจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และกระทรวงฯ จะได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียและสำเนาให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอื่น ๆ ด้วย
๖. เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติของไทย และการหารือกันระหว่างนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นายสุวิทย์ คุณกิตติ และรัฐมนตรีว่าการฯ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กรุงปารีส ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ โดยมีนายอัษฎา ชัยนาม ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน JBC ฝ่ายไทย อยู่ในคณะผู้แทนด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติให้มีการศึกษาเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกในลักษณะของ transboundary หรือ serial nomination ซึ่งเป็นข้อเสนอเพื่อให้ทำการศึกษาเท่านั้น ไม่ใช่ท่าทีอย่างเป็นทางการในการเจรจา และไม่ได้ศึกษากรณีของปราสาทพระวิหารเท่านั้น เนื่องจากยังมีโบราณสถานและอุทยานอื่น ๆ ของไทยที่อาจตั้งคาบเกี่ยวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงควรมีการศึกษาเพื่อให้มีองค์ความรู้และมีแบบอย่างของประเทศอื่น ๆ ให้ศึกษาต่อไปได้
รัฐมนตรีว่าการฯ ยังกล่าวถึงผลการหารือกับนายโคอิจิโระ มัสซูระ ผู้แทนพิเศษของผู้อำนวยการใหญ่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ที่เสนอให้ไทยกับกัมพูชาพบปะกันในเดือนพฤษภาคมนี้ก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กรุงปารีสว่า ฝ่ายไทยจะตอบรับข้อเสนอ โดยอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าจะไม่มีการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหารในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เพราะการเจรจาปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ
๗. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวยืนยันอีกครั้งว่า ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ระวางดงรัก และยึดหลักสันปันน้ำในการเจรจา โดยพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งจะรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ๆ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--