เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวกรณีเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ เมษายน ๒๕๕๔ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
๑. สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณปราสาทตาควาย เมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔ กระทรวงการต่างประเทศจะได้มีหนังสือประท้วงรัฐบาลกัมพูชาเป็นฉบับที่สอง พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
๒. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวปฏิเสธโดยสิ้นเชิงต่อข้อกล่าวหาของฝ่ายกัมพูชา โดยยืนยันว่า ฝ่ายไทยไม่ได้ใช้เครื่องบินใด ๆ หรือก๊าซพิษในการตอบโต้ฝ่ายกัมพูชา มีเพียงการใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อขนย้ายผู้บาดเจ็บเท่านั้นซึ่งก็อยู่ในดินแดนของไทย รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวยืนยันอีกครั้งว่า ฝ่ายไทยไม่เคยรุกรานก่อนและจะดำเนินการตอบโต้เพื่อรักษาอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดน รวมทั้งรักษาความปลอดภัยของประชาชน ดังนั้น การตอบโต้ของฝ่ายไทยจึงมุ่งเฉพาะเป้าหมายทางการทหาร ซึ่งแตกต่างจากฝ่ายกัมพูชาที่โจมตีเป้าหมายประชาชน ส่งผลให้พลเรือนไทยต้องประสบความยากลำบาก และต้องอพยพออกจากพื้นที่ที่ถูกโจมตี
๓. รัฐมนตรีว่าการฯ เห็นด้วยกับคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียที่เรียกร้องให้ไทยและกัมพูชายุติการสู้รบโดยเร็ว และให้ทั้งสองประเทศเจรจาทวิภาคี เพราะฝ่ายไทยได้ยืนยันเรื่องนี้มาโดยตลอด และทั้งสองฝ่ายก็มีกลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้ให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ทาบทามการจัดการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการฯ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาด้วย อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ฝ่ายกัมพูชาได้พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเจรจาทวิภาคีกับฝ่ายไทยมาโดยตลอด ในการนี้ หากฝ่ายกัมพูชามีความปรารถนาดีก็ควรที่จะมาพูดคุยกัน และขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชากลับสู่โต๊ะเจรจากับฝ่ายไทย เพื่อดูแลความสงบสุขตลอดแนวชายแดน ซึ่งสามารถทำคู่ขนานไปกับการเจรจาเขตแดนภายใต้กรอบของ JBC อันเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากผลการประชุม JBC ครั้งล่าสุดที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย
๔. สำหรับการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย (กระทรวงกลาโหม สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ) เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า เป็นการปรึกษาหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยยืนยันว่า ประเทศไทยยึดหลัก ๓ ประการในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ๑) ยึดหลักการใช้กลไกทวิภาคี ๒) ไม่ผูกโยงเรื่องหนึ่งเข้ากับอีกเรื่องหนึ่ง และ ๓) ยืนยันความตั้งใจที่จะลดช่องว่างของการพัฒนาระหว่างไทยกับกัมพูชาและภายในอาเซียน โดยรัฐมนตรีว่าการฯ เน้นย้ำความปรารถนาดีของประชาชนไทยต่อประชาชนกัมพูชาที่เป็นเหมือนพี่น้องกัน การดำเนินความสัมพันธ์กับกัมพูชาของไทยยึดความสุขของประชาชนของสองประเทศเป็นตัวตั้ง ซึ่งก็สะท้อนอยู่ในนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลไทย ในการนี้ อยากให้ผู้นำกัมพูชายึดมั่นในผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ตระหนักถึงความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างสองประเทศ และไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยให้ความช่วยเหลือกัมพูชาในหลายด้าน ซึ่งรวมไปถึงการให้เงินกู้ยืมแบบผ่อนปรน การเชื่อมโยงด้านคมนาคม การส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ การยกเว้นการตรวจลงตราให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ความร่วมมือการตรวจลงตราเดียวระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของการเป็น “Two Kingdoms, One Destination” ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหาเช่นเรื่องของการเจรจาเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเลก็มีกลไกที่สามารถพูดคุยกันได้อยู่แล้ว ก็ขอให้กลไกดำเนินไปตามกระบวนการที่มีอยู่
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้เสนอมาให้มีการชำระประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยนักวิชาการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาคมอาเซียน ดังนั้น จึงไม่ประสงค์ที่จะให้ให้เกิดการขยายพื้นที่ของจุดปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา แต่มุ่งให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น สร้างสรรค์และมองไปข้างหน้า
๕. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยปกครองโดยระบบรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญของไทย การดำเนินการใด ๆ ต้องผ่านการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับฟังภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ กรณีของการส่งผู้สังเกตการณ์ฝ่ายอินโดนีเซีย รัฐมนตรีว่าการฯ ก็ต้องหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อศึกษารายละเอียดด้วยความระมัดระวังและให้ได้ความเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเป็นสังคมประชาธิปไตยของไทยที่มีการดำเนินการที่รอบคอบและโปร่งใส เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ พร้อมที่จะมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย แต่อยู่ระหว่างรอยืนยันในรายละเอียดจากกระทรวงกลาโหม ซึ่งรวมไปถึงการระบุเงื่อนไขว่า ต้องไม่มีกองกำลังทหารอยู่ในบริเวณปราสาทพระวิหารหรือวัดแก้วสิกขาคิรีสะวารา และการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียจะต้องไม่กระทบต่อการเจรจาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--