เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๔ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการหารือระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับผู้แทนทางการทูตของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้หารือกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. กับเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียเมื่อเวลา ๑๗.๐๐ น.และกับเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ และอุปทูตแคนาดาพร้อมกันเมื่อเวลา ๑๗.๕๐ น. นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศพบกับเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ เอกอัครราชทูตพม่า เอกอัครราชทูตลาว และอุปทูตมาเลเซีย ในวันเดียวกันด้วย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
๑. รัฐมนตรีว่าการฯ และปลัดกระทรวงฯ ได้แจ้งให้ผู้แทนทางการทูตที่เชิญมาหารือทราบเกี่ยวกับความเป็นมาและท่าทีของไทยต่อเหตุการณ์ปะทะที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ โดยเน้นย้ำว่าไทยไม่มีเหตุผลที่จะเริ่มการโจมตี แต่เป็นฝ่ายที่ถูกกระทำจึงต้องตอบโต้เพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดน ที่ผ่านมา ไทยได้พยายามส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับกัมพูชา อาทิ
การให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ และยังปรารถนาที่จะดำเนินการดังกล่าวต่อไป แต่ทางการกัมพูชาก็ต้องแสดงความจริงใจด้วย ในการนี้ ฝ่ายไทยยังขอร้องให้มิตรประเทศช่วยโน้มน้าวให้ฝ่ายกัมพูชากลับสู่โต๊ะเจรจากับฝ่ายไทย
๒. ผู้แทนทางการทูตทั้งหมดแสดงความเข้าใจท่าทีของไทย และแสดงความประสงค์ให้ไทยกับกัมพูชาเจรจากันโดยสันติเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป
๓. นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังแจ้งให้ทราบถึงพัฒนาการของการส่งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียมายังชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารว่า ในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔รัฐมนตรีว่าการฯ จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมประชาคมอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และจะถือโอกาสดังกล่าวหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียเพื่อสรุปเกี่ยวกับถ้อยคำในร่างข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference—TOR) ของผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย ซึ่งยังเหลือเรื่องถ้อยคำในประเด็นเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตของผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวย้ำว่า ก่อนการส่งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ ฝ่ายไทยจะต้องมีหลักประกันความมั่นใจก่อนกล่าวคือ ฝ่ายกัมพูชาต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา และชุมชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร
๔. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับแถลงการณ์ของกัมพูชาที่ระบุถึงท่าทีทางการทหารของไทยว่าการใช้กำลังของไทยโจมตีกัมพูชาเป็นเหมือนการประกาศสงคราม โฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจากฝ่ายไทยถูกโจมตีก่อนและการดำเนินการของฝ่ายไทยเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ระบุว่า หากฝ่ายไทยถูกโจมตีก็จำเป็นที่จะต้องปกป้องอธิปไตยของประเทศและเป็นการตอบโต้ตามความเหมาะสม
ส่วนกรณีที่มีการรายงานข่าวว่าสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีท่าทีพร้อมที่จะเจรจากับฝ่ายไทยระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในช่วงสัปดาห์หน้านั้น โฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประสานอย่างเป็นทางการเข้ามา อย่างไรก็ดี หากท่าทีฝ่ายกัมพูชาเป็นเช่นนั้นจริงก็สอดคล้องกับท่าทีของนายกรัฐมนตรีของไทยที่ยืนยันมาโดยตลอด ฝ่ายไทยได้เรียกร้องตั้งแต่วันแรกของการปะทะกันให้ทั้งสองฝ่ายพบปะหารือกัน ไม่ว่าจะเป็นในกรอบของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) หรือในกรอบอื่น ๆ
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงฯ ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการฯ จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ ว่า ประเด็นหลักคือเรื่อง TOR ของผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียในประเด็นเรื่องของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางการทูตเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายภายในของไทย ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายตกลงเกี่ยวกับถ้อยคำที่จะระบุใน TOR ได้แล้ว ฝ่ายไทยก็จะได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา TOR ดังกล่าวในสัปดาห์ต่อไป นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงฯ ย้ำด้วยว่า การส่งผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาปฏิบัติหน้าที่บริเวณชายแดนไทยเป็นไปตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า กองกำลังกัมพูชาจะต้องไม่อยู่ในปราสาทพระวิหาร เนื่องจากการคงกำลังทหารกัมพูชาไว้ในโบราณสถานดังกล่าวขัดกับอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีที่มีความขัดแย้งทางอาวุธ ค.ศ. ๑๙๕๔
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--