รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเกี่ยวกับการส่งคณะผู้สังเกตการณ์มายังชายแดนไทย-กัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Tuesday May 3, 2011 13:20 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ ๕ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนผ่านทางโทรศัพท์ทางไกลจากกรุงจาการ์ตา เกี่ยวกับผลการหารือกับฝ่ายต่าง ๆ ในเรื่องสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ ได้พบหารือนานกว่าสองชั่วโมงกับ ดร. มาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปัจจุบัน ที่กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ทั้งสองฝ่ายได้หารือในรายละเอียดเกี่ยวกับร่างข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference - TOR) ของคณะผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียที่จะส่งมาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเห็นพ้องกันเกือบทั้งหมดทุกประเด็น มีเพียงประเด็นถ้อยคำบางประการที่ต้องหารือกันต่อไปอีกเล็กน้อย คาดว่าภายในวันที่ ๒๙ เมษายน ฝ่ายอินโดนีเซียน่าจะสามารถส่งร่างสุดท้ายของ TOR ให้ได้เพื่อฝ่ายไทยจะดำเนินการตามกระบวนการภายในของไทย คือนำเสนอคณะรัฐมนตรี ได้ทันภายในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๓ พฤษภาคมต่อไป หลังจากนั้น รูปแบบจะเป็นการแลกเปลี่ยนหนังสือนำส่ง TOR ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียฉบับหนึ่ง และอินโดนีเซียก็จะไปดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือกับฝ่ายกัมพูชาอีกฉบับหนึ่ง

๒. ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียทราบเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดของสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา และยืนยันท่าทีของประเทศไทยที่มีมาโดยตลอด คือ ไทยมุ่งมั่นจะสร้างสันติภาพและความร่วมมือ ไทยต้องการใช้วิธีการเจรจาหาข้อยุติปัญหากับกัมพูชาโดยสันติในระดับทวิภาคี ซึ่งมีกลไกต่าง ๆ อยู่แล้ว โดยที่อาเซียนและอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนมีบทบาทในการช่วยอำนวยความสะดวก และไทยประสงค์ให้มีการยุติการยิงกันโดยเร็ว ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียเองก็ได้รับทราบรายงานข่าวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนไทยที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ อันเป็นเครื่องยืนยันสิ่งที่ไทยเคยกล่าวมาตลอดว่า ฝ่ายไทยไม่มีเหตุผลอันใดที่จะเริ่มต้นการสู้รบก่อน เพราะฝ่ายไทยมีธุรกิจในกัมพูชา มีความช่วยเหลือที่ให้แก่กัมพูชา และยังมีประชาชนไทยอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนซึ่งจะได้รับอันตรายหากเกิดการปะทะกันขึ้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่ไทยจะก่อเรื่องก่อน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ก็ได้ย้ำประเด็นนี้กับฝ่ายอินโดนีเซียด้วย

๓. นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนแล้ว และมีกำหนดจะพบหารือกันอีกครั้งหนึ่งในเช้าวันที่ ๒๙ เมษายน เพื่อแจ้งท่าทีของไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา รวมทั้งได้พบและบรรยายสรุปสถานการณ์และท่าทีของไทยให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรและเจ้าหน้าที่ประจำอาเซียนจากประเทศต่างๆ ๒๓ ประเทศ ทราบความเป็นมาทั้งหมด รวมทั้งกระบวนการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ (MOU) พ.ศ. ๒๕๔๓ ความคืบหน้าในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) และความพร้อมของฝ่ายไทยในการดำเนินการต่อไปภายใต้กรอบคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการชายแดนระดับภูมิภาค (RBC) นอกจากนั้น ยังได้อธิบายคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) คดีปราสาทพระวิหารปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งฝ่ายไทยได้ปฏิบัติตามแล้ว และได้แจ้งการประเมินแนวทางที่คาดว่าฝ่ายกัมพูชาจะดำเนินการต่อไปในการยกระดับปัญหาสู่สากล ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ยืนยันท่าทีของฝ่ายไทยที่ต้องการมีมิตรภาพกับประชาชนชาวกัมพูชา และความร่วมมือช่วยเหลือต่างๆ ของฝ่ายไทยต่อประชาชนกัมพูชาตลอดแนวชายแดน โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุขด้วย

๔. รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการกล่าวถึงพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตรในร่าง TOR ว่า ขณะนี้ ฝ่ายไทย ฝ่ายกัมพูชา และฝ่ายอินโดนีเซียต่างก็ได้รับรู้ถึงจุดที่ตั้งที่ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียจะเข้าไปบริเวณชายแดนฝั่งละ ๑๕ คนแล้ว โดยฝ่ายไทยรับรู้ว่าฝ่ายอินโดนีเซียตกลงกับฝ่ายกัมพูชาที่จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปในฝั่งกัมพูชา ๓ จุด และฝ่ายกัมพูชาก็รับทราบว่าอินโดนีเซียตกลงกับไทยในการส่งผู้สังเกตการณ์มายังฝั่งไทย ๔ จุด ทางเหนือและทางใต้ของตัวปราสาทพระวิหาร โดยจะไม่มีคณะผู้สังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ ตนได้แจ้งฝ่ายอินโดนีเซียด้วยว่า ในการที่จะส่งคณะผู้สังเกตการณ์มาปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น จะต้องไม่มีกองกำลังทหารกัมพูชาตั้งอยู่ในปราสาทพระวิหาร เพราะการมีกองกำลังกัมพูชาในปราสาทพระวิหาร เป็นการละเมิดอนุสัญญากรุงเฮกเกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ จะต้องไม่มีกองกำลังกัมพูชาในวัดแก้วสิขาคีรีสวาระ เพราะเป็นการละเมิดบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างไทย-กัมพูชา ปี ๒๕๔๓ ฉะนั้น หากยอมให้คณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาโดยที่ยังมีกองกำลังทหารกัมพูชาปราสาทพระวิหารอยู่ ก็จะเท่ากับเป็นการให้ความชอบธรรมต่อการกระทำที่ละเมิดอนุสัญญากรุงเฮกและละเมิดบันทึกความเข้าใจฯ เงื่อนไขนี้คงเป็นเรื่องที่ฝ่ายอินโดนีเซียจะต้องหารือกับฝ่ายกัมพูชาต่อไป ซึ่งอินโดนีเซียก็ได้ติดต่อกับกัมพูชามาโดยตลอด และอินโดนีเซียก็จะแจ้งให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศฮอร์ นัมฮง ของกัมพูชา ทราบถึงผลการหารือกับฝ่ายไทยในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการคู่ขนานกันไปทุกระยะและต่างฝ่ายต่างรับรู้ซึ่งกันและกันโดยตลอด

ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่จะสามารถเริ่มดำเนินการตาม TOR ได้เมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ตนกล่าวแล้ว คือการไม่มีทหารกัมพูชาอยู่ในตัวปราสาทพระวิหาร และห้วงระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้สังเกตการณ์ ตามที่หารือกันไว้คือประมาณ ๖ เดือน หรืออาจสั้นกว่านั้นก็ได้ หากสถานการณ์คลี่คลายไปสู่สันติภาพและกัมพูชาให้คำมั่นได้ว่าจะไม่โจมตีไทยอีก

๕. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวด้วยว่า ได้รับทราบเกี่ยวกับการพบปะหารือระหว่างแม่ทัพภาคที่ ๒ ของไทย กับผู้บัญชาการทหารภูมิภาคที่ ๔ ของกัมพูชาเพื่อหยุดยิง รวมทั้งการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมทั้งสองฝ่ายแล้ว และกล่าวว่า กัมพูชาต้องยุติการสู้รบ เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหา และไม่มีทางที่กัมพูชาจะรบชนะไทย กัมพูชาต้องกลับมาสู่การแก้ไขปัญหาบนโต๊ะเจรจา อันเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประสงค์ ฝ่ายไทยไม่ต้องการสู้รบกับกัมพูชา เพราะประชาชนไทยตามแนวชายแดนทั้งที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ต้องประสบความเดือดร้อน

๖. รัฐมนตรีว่าการฯ ขยายความเกี่ยวกับปัญหาถ้อยคำเล็กน้อยในร่าง TOR ว่า เป็นเรื่องของการหาถ้อยคำเกี่ยวกับการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่คณะผู้สังเกตการณ์ ให้สอดคล้องกับกระบวนการภายในของอินโดนีเซียและไทย ซึ่งต่างฝ่ายก็เป็นประเทศประชาธิปไตยและต้องปฏิบัติตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญของตนเช่นเดียวกัน จึงต้องปรับแก้ไขถ้อยคำบ้างให้สบายใจทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น โดยได้ตกลงกันในหลักการว่า ให้ถือว่าคณะผู้สังเกตการณ์เป็นส่วนหนึ่งของคณะทูตของอินโดนีเซียที่สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำกรุงเทพฯ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ