โฆษกกระทรวงการต่างประเทศตอบข้อซักถามเกี่ยวกับบทบาทของทหารในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 4, 2011 12:44 —กระทรวงการต่างประเทศ

ต่อข้อซักถามเกี่ยวกับรายงานข่าวต่าง ๆ ในระยะหลังที่มีการกล่าวหาว่าไทยเป็นฝ่ายริเริ่มการปะทะระหว่างไทย-กัมพูชาโดยมีสาเหตุมาจากการเมืองภายใน และได้วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของทหารไทยในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา รวมถึงได้กล่าวอ้างว่ากระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายทหารขาดการประสานงานกันด้วยนั้น นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งข้อชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ไปยังสำนักข่าวที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. ประเทศไทยไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มการปะทะกับกัมพูชา เพราะไทยไม่มีเหตุผลที่จะเริ่มการโจมตี และไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น การกระทำที่สร้างความเป็นปรปักษ์เช่นนั้นรังแต่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดน และบ่อนทำลายความพยายามที่ไทยมีมาตลอดในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับกัมพูชา และการผลักดันให้อาเซียนก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ นอกเหนือจากการค้าและการลงทุนแล้ว ประเทศไทยยังมีความร่วมมือในหลาย ๆ ด้านกับกัมพูชา ซึ่งความร่วมมือจำนวนมากมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกัมพูชา ดังนั้น จึงไม่สมเหตุสมผลใด ๆ ที่ไทยจะทำลายความพยายามทั้งหลายที่ทำมา

๒. นับตั้งแต่เหตุการณ์ปะทะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ได้มีความคืบหน้าในการเจรจาในกรอบทวิภาคี คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ได้มีการประชุมกันที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๗-๘ เมษายน ๒๕๕๔ นอกจากนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และอาเซียนก็ได้เรียกร้องให้ทั้งสองประเทศแก้ไขปัญหาเขตแดนในกรอบทวิภาคี ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่ประเทศไทยจะกระทำการใด ๆ ที่จะทำให้กระบวนการดังกล่าวหยุดชะงัก

๓. ประเทศไทยมิได้ปฏิเสธที่จะให้มีผู้สังเกตการณ์ โดยต้องขอให้ท้าวความว่า ประเทศไทยเป็นฝ่ายเชิญให้มีการส่งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งกำลังจะสรุปในเรื่องข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference—TOR) ในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ การเชิญผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียมายังประเทศไทยเป็นผลจากการตัดสินใจร่วมกันในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบกร่วมอยู่ด้วย นับแต่นั้นมาก็ได้มีการหารือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงไม่เป็นความจริงที่ว่ากระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายทหารมีความเห็นไม่ตรงกันในประเด็นนี้ หรือประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกัมพูชา

๔. หากผู้ใดจะยังคงยืนยันที่จะวิเคราะห์ประเด็นไทย-กัมพูชาจากมุมมองของการเมืองภายใน ก็น่าจะเป็นการยุติธรรมหากจะมีการมองสถานการณ์ในฝั่งตรงข้ามของพรมแดนด้วย คำถามที่ควรจะถามคือ ใครจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการปล่อยให้ประเด็นเขตแดนลุกลามและกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ ในส่วนของไทย ได้พยายามมาโดยตลอดที่จะควบคุมสถานการณ์ และจัดการปัญหาร่วมกับกัมพูชาผ่านทางการเจรจาหารือ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับที่ประเทศอื่น ๆ ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาในลักษณะเช่นนี้

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ