เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๔ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ร่วมกันแถลงข่าวในประเด็นสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
๑. รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยผิดหวังกับเหตุการณ์ปะทะที่ยังคงเกิดขึ้นอีกเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ หลังจากที่แม่ทัพภาคที่ ๒ ของไทยได้พบปะกับผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ ๔ ของกัมพูชาเพื่อหารือเกี่ยวกับการยุติการปะทะก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน และขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ด้วย รัฐบาลไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาปฏิบัติตามข้อตกลงในการยุติการปะทะตามที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ของทั้งสองประเทศได้หารือกัน เพื่อนำสันติสุขมาสู่พื้นที่ โดยรัฐบาลไทยยึดมั่นในหลักการของการเจรจาโดยสันติวิธี และยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบายรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน และจะตอบโต้เพื่อป้องกันตนเองและปกป้องประชาชนไทยเท่านั้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นท่าทีของรัฐบาลไทยในทุกรัฐบาลมาโดยตลอด
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในสัปดาห์หน้า จะได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้าใจ และอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดให้มีการหารือทวิภาคีนอกรอบกับผู้นำกัมพูชาที่จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย
๒. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๔ ฝ่ายกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าได้ยื่นเรื่องถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี ๒๕๐๕ เรื่องนี้ ฝ่ายไทยได้ทราบเป็นการภายในก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังรอหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ การดำเนินการของกัมพูชาไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือการคาดการณ์ เพราะมีการประเมินมาตั้งแต่ต้นว่ากัมพูชาจะทำ นอกจากนี้ ในช่วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๓-๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา ก็ได้แจ้งกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า หากการเจรจาคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ไม่มีความคืบหน้า ก็จะเสนอเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาดังกล่าว
การดำเนินการของกัมพูชาในเรื่องนี้เป็นการสะท้อนว่า กัมพูชามีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง เหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ ที่ฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายริเริ่ม เป็นการปูพื้นไปสู่จุดนี้ ในส่วนของฝ่ายไทย มีความพร้อมและเตรียมการทั้งทางด้านข้อมูลวิชาการ มีการจัดตั้งคณะทำงาน และว่าจ้างที่ปรึกษาชาวต่างประเทศเพื่อสู้คดี และแม้ว่าฝ่ายไทยยังคงเห็นว่าการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศ แต่โดยที่ฝ่ายกัมพูชาได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลโลกแล้ว ฝ่ายไทยก็พร้อมดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวของกัมพูชายังสะท้อนว่าเป็นการไม่ให้ความสำคัญและข้ามบทบาทของอาเซียนที่ได้พยายามเข้ามาสนับสนุนกระบวนการทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชา
๓. โฆษกกองทัพบกกล่าวถึงเหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นล่าสุดว่า แม้ว่าเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๔ พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ ๒ ของไทยกับ พล.ท.เจีย มอน ผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ ๔ ของกัมพูชา ได้พบปะพูดคุยกันบริเวณช่องจอม โดยตกลงที่จะรายงานผลการหารือต่อผู้บังคับบัญชาต่อไป โดยประเด็นหนึ่งของการหารือ คือ การตกลงกันในเบื้องต้นให้ยุติการปะทะ แต่ก็ได้เกิดการปะทะกันอีกเมื่อเวลา ๒๑.๐๐ น. และประปรายหลังจากนั้น ซึ่งการปะทะในครั้งนี้ส่งผลให้มีทหารเสียชีวิต ๑ นาย และบาดเจ็บ ๔ นาย ทั้งนี้ โฆษกกองทัพบกให้ข้อคิดเห็นว่า มองในแง่ดี เหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดและการควบคุมกองกำลังภายในของกองทัพกัมพูชาเอง เนื่องจากผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ ๔ ซึ่งเดินทางมาหารือกับแม่ทัพภาคที่ ๒ ของไทยไม่ได้เป็นผู้ที่รับผิดชอบในพื้นที่ที่เกิดการปะทะ อย่างไรก็ดี ในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๔ ได้จัดให้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้บังคับหน่วยที่อยู่ในแนวหน้าโดยเดินทางไปพูดคุยกันที่อำเภอโอเสม็ด จังหวัดอุดรมีชัย โดยประเด็นที่มีการหารือกัน คือ การกวดขันให้กำลังพลที่อยู่ในความดูแลใช้ความระมัดระวังในการใช้อาวุธ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและจะนำไปสู่การปะทะกันได้ นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ของไทยกับกัมพูชา เพื่อให้สามารถติดต่อกันได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการแสดงความจริงใจของฝ่ายไทยที่จะพยายามยุติการปะทะโดยสันติวิธี และต้องติดตามต่อไปว่าฝ่ายกัมพูชาจะทำให้ผลจากการเจรจาเกิดผลเป็นรูปธรรมได้หรือไม่
๔. ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลในกรณีเกิดเหตุการณ์ปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา นอกเหนือจากการดำเนินการทางทหาร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลเป็นผู้กำหนดแนวทางการดำเนินการของกองทัพในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของไทย ดังนั้น แม้ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แนวทางการดำเนินการก็ยังคงเดิม กล่าวคือ เป็นการใช้กำลังทางทหารเพื่อป้องกันตนเอง รักษาอธิปไตยเหนือดินแดน และปกป้องประชาชน นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเสริมด้วยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยกับกัมพูชาได้หารือกันทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔ และเห็นพ้องที่จะพบปะกันในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา ระหว่าง ๗-๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ส่วนการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับกัมพูชาก็มีความเป็นไปได้
ต่อคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่กัมพูชายื่นเรื่องต่อศาลโลกให้ตีความคดีปราสาทพระวิหาร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เรื่องนี้น่าจะมีความชัดเจนหลังจากได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ อย่างไรก็ดี จากแถลงการณ์ของกัมพูชา คาดว่า ฝ่ายกัมพูชาน่าจะยื่นเรื่องให้ศาลฯ ตีความเกี่ยวกับบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร (vicinity) โฆษกกระทรวงฯ กล่าวด้วยว่า การยื่นเรื่องของให้ศาลฯ ตีความคำพิพากษาสามารถทำได้ตามข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลโลก และโดยที่ศาลโลกยังต้องพิจารณาหลักฐานทั้งหมดอย่างถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร อีกทั้งต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีตั้งข้อสังเกตและให้ข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลฯ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น จึงยังไม่ควรคาดการณ์ในเรื่องนี้ว่าผลจะเป็นอย่างไร
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--