รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการหารือกับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Friday May 6, 2011 08:29 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับผลการเดินทางไปนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อหารือกับที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทย ๓ คนสำหรับกรณีที่กัมพูชายื่นคำขอตีความคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารว่า การเดินทางไปครั้งนี้เพื่อแจ้งให้ที่ปรึกษาฯ ทราบว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง เป็นต้นว่า การนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นอกจากนี้ ยังได้สอบถามที่ปรึกษาฯ เกี่ยวกับความต้องการเพิ่มเติมในเรื่องของข้อมูล และการเตรียมการเดินทางไปกรุงเฮกในช่วงกระบวนการพิจารณา (oral hearing) เพื่อพิจารณาคำขอของกัมพูชาให้ศาลออกมาตรการชั่วคราว (provisional measures) ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นประมาณวันที่ ๓๐-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับเรื่องของยุทธวิธีและรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของฝ่ายกัมพูชา เกี่ยวกับการเตรียมการของฝ่ายไทย รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก เป็นตัวแทน (Agent) แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ ๓ คน และผู้พิพากษาเฉพาะกิจ (Judge ad hoc) ๑ คน นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของประเทศไทย และคณะทำงานของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการดำเนินคดี โดยมีคณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาอนุสัญญาต่าง ๆ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีอยู่แล้วมาร่วมทำหน้าที่ด้วย ขณะที่ข้าราชการประจำของกระทรวงฯ จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการและให้การสนับสนุนการทำงานของเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และที่ปรึกษาฯ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการที่จะทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินการประจำวันกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งช่วยประสานในการรับคณะจากประเทศไทยและคณะของที่ปรึกษาฯ ด้วย

สำหรับกระบวนการพิจารณาคำขอของกัมพูชาในเรื่องมาตรการชั่วคราวของศาลประมาณวันที่ ๓๐-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ฝ่ายไทยจะเดินทางไปเตรียมการและหารือกับที่ปรึกษาฯ ล่วงหน้า ๓-๔ วัน รวมทั้งเตรียมการยกร่างถ้อยแถลงของเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนฝ่ายไทย และหลังจากนั้น ที่ปรึกษาฯ จะได้ชี้แจงข้อมูลต่อศาล โดยฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาจะมีเวลาประมาณฝ่ายละ ๔ ชั่วโมงในการให้การช่วงกระบวนการพิจารณา ขณะที่ในส่วนของการพิจารณาคำขอตีความคำพิพากษานั้น ฝ่ายไทยจะต้องส่งความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร (written observations) ให้ศาลภายในประมาณ ๔-๕ เดือน ซึ่ง คาดว่าผลการพิจารณาของศาลเกี่ยวกับคำขอตีความนี้อาจจะแล้วเสร็จในปีหน้า

ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะส่งผลต่อการดำเนินงานด้านนี้หรือไม่ รัฐมนตรีวาการฯ กล่าวว่า “งานอันนี้ก็เป็นงานของประเทศชาติ ไม่มีฝ่ายไหน ๆ ทั้งสิ้น” และได้บอกผ่านสื่อมวลชนว่า “ขอความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันนี้เป็นเรื่องของชาติ แล้วมาช่วยกันระดมความคิดเห็น จะเสนอความคิดเห็น เราก็พร้อมที่จะรับฟังอยู่ตลอดเวลา” ส่วนที่ว่ามีข้อห่วงกังวลใดหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ต้องมีเป็นธรรมดา และคงเป็นเรื่องของการเตรียมการ เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยก็ไม่ได้คุ้นเคยมากนัก และห่างจากศาลโลกมา ๕๐ ปีแล้ว อย่างไรก็ดี เคยบอกกับประชาชนตลอดเวลาและแถลงในรัฐสภาว่า ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ฝ่ายไทยมีการเตรียมการอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาเท่าที่จะมี

รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมจะให้ข้อมูลแก่ประชาชน จะพยายามชี้แจงเท่าที่จะทำได้ และฝ่ายต่าง ๆ ไม่ควรออกมาให้ความเห็นที่จะสร้างความสับสน อย่างไรก็ดี ในส่วนของท่าทีของไทยจะเป็นอย่างไรคงบอกไม่ได้ คงบอกได้เกี่ยวกับการเตรียมการ ในขณะที่ท่าทีของฝ่ายกัมพูชา คือ อยากให้มีการตีความคำพิพากษาของศาลโลกเกี่ยวกับพื้นที่บริเวณรอบปราสาทว่ามากน้อยเพียงใด เพราะเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ศาลโลกตัดสินเพียงว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา แต่ไม่ได้พูดเรื่องของเขตแดน

รัฐมนตรีว่าการฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ฝ่ายไทยจะได้หารือกับฝ่ายกัมพูชาในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่อินโดนีเซียว่า ฝ่ายไทยมีนโยบายที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายกัมพูชา ทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และเวทีโลก นอกจากนี้ ยังได้พูดในทุกเวทีว่าฝ่ายไทยพร้อมคุยทวิภาคีกับฝ่ายกัมพูชาในทุกกรอบที่มี เช่น คณะกรรมาธิการร่วมมือเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (JC) คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) แต่ฝ่ายกัมพูชากลับเลือกที่เสนอเรื่องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) พิจารณา ซึ่งก็ส่งกลับมาให้อาเซียนเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ทั้งสองประเทศ และล่าสุดได้มีการประชุม JBC กันที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย และมีความคืบหน้าด้วยดี อย่างไรก็ดี ฝ่ายกัมพูชาก็ยังยื่นคำร้องไปยังศาลโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย ขณะนี้มีการหยุดยิงที่ฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ และเมื่อเชิญให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยไปพูดคุย โดยฝ่ายไทยเรียกร้องให้หยุดยิงก่อนจึงค่อยเจรจากัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวอีกว่า “ไม่มีใครในแวดวงรัฐบาลไทยที่ไม่เคยพูดว่า ไม่อยากจะเจรจา” ทั้งหมดนี้จึงอยู่ที่ฝ่ายกัมพูชา และขอให้พินิจพิเคราะห์ท่าทีของฝ่ายกัมพูชาต่อฝ่ายไทยที่มีตลอดมา

สำหรับข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ คณะรัฐมนตรีก็ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ