โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเผยความคืบหน้าในการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศไทยกับกัมพูชา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 11, 2011 06:54 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อแถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับการหารือระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ สืบเนื่องจาก การที่นายกรัฐมนตรีของไทยและกัมพูชาได้มอบหมายให้รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองฝ่ายอยู่ในกรุงจาการ์ตาต่ออีก ๑ วัน เพื่อหารือกัน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

๑. การหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยกับกัมพูชา มีขึ้นเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๕.๐๐ น. ที่กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย โดยมีนายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เป็นผู้อำนวยความสะดวกและเข้าร่วมการหารือดังกล่าวด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะเสนอใหัรัฐบาลของแต่ละฝ่ายพิจารณา “ขั้นตอนทางการปฏิบัติ” หรือ Roadmap เกี่ยวกับการดำเนินการต่อไปในลักษณะองค์รวม (package) ซึ่งข้อเสนอที่เป็นองค์รวมนี้จะรวมถึงเรื่องการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับอินโดนีเซียและอินโดนีเซียกับกัมพูชาเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะผู้สังเกตการณ์ (Terms of Reference- TOR) เรื่องการจัดประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee- GBC) และเรื่องการถอนกำลังทหารกัมพูชาออกจากพื้นที่ก่อนที่ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งขั้นตอนทางการปฏิบัติดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศก่อนที่จะดำเนินการต่อไปได้

๒. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวยืนยันท่าทีของไทยว่า ก่อนที่จะมีการส่งผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ฝ่ายกัมพูชาจะต้องถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสวารา และพื้นที่บริเวณรอบข้าง คือชุมชนและตลาด ให้แล้วเสร็จเสียก่อน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าจะเสนอให้รัฐบาลของตนพิจารณาเป็น package โดยการดำเนินการทั้งหมดจะเป็นแบบองค์รวม ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า ฝ่ายกัมพูชาต้องถอนทหารออกไปก่อนที่จะมีการส่งคณะผู้สังเกตการณ์เข้ามา

๓. ต่อคำถามเกี่ยวกับกรอบเวลาในการพิจารณาข้อเสนอข้างต้นนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการบรรจุระเบียบวาระเข้าสู่พิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้เมื่อใด ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องการให้มีความคืบหน้าในการดำเนินการในโอกาสแรกด้วยกันทั้งสิ้น แต่ก็ต้องดำเนินตามกระบวนการขั้นตอน

๔. สำหรับคำถามว่า ในข้อเสนอขั้นตอนทางการปฏิบัติ (Roadmap) มีการกล่าวถึงเรื่องการหยุดยิงหรือยุติการปะทะในพื้นที่หรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า จะหารือรายละเอียดในเรื่องนี้ในกรอบการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไทยได้เรียกร้องมาตั้งแต่ต้น โดยการให้ความเห็นชอบในการดำเนินการจะเป็นลักษณะองค์รวม ทั้งนี้ ในขณะนี้หน่วยทหารทั้งสองฝ่ายในพื้นที่ก็ได้มีการพูดคุยกันอยู่แล้ว และที่ผ่านมา ก็ยังไม่ได้มีเหตุปะทะกันในพื้นที่อีก ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

๕. ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับท่าทีของอินโดนีเซียในเรื่องนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย มีความพอใจต่อการหารือครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยจากคำให้สัมภาษณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียเห็นว่าผลที่ออกมา “ดีเกินคาด” ดังนั้น รายงานข่าวบางกระแสก่อนหน้านี้ที่ว่าอินโดนีเซียแสดงความไม่พอใจไทยจึงเป็นข่าวคลาดเคลื่อนไม่เป็นความจริง ส่วนท่าทีของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียที่มีการรายงานในสื่อมวลชนว่า ได้วิจารณ์ไทยว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชารอบใหม่นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า น่าจะเป็นเรื่องของความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือการรายงานข่าวคลาดเคลื่อนมากกว่า

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ