รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพอใจผลการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาและรัฐมนตรีว่ากาiกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 12, 2011 06:55 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหลังเดินทางกลับจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เกี่ยวกับผลการหารือกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา และนายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

๑. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวถึงที่มาที่ไปของการหารือเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ว่า เป็นผลจากการพบปะกันนอกรอบระหว่างประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีของไทย และนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน เกี่ยวกับประเด็นระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งผู้นำทั้งสามประเทศเห็นพ้องกันให้มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตนให้พบกัน

๒. สำหรับผลของการหารือเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ได้ผลสรุปว่า จะเป็นการทำงานร่วมกันต่อไปในลักษณะของชุดข้อตกลง (package) ไม่ใช่เรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะ กล่าวคือ ท่าทีของฝ่ายกัมพูชาที่ต้องการให้ไทยให้ความเห็นชอบกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference—TOR) ของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย และท่าทีของไทยที่เน้นย้ำว่า การส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียมายังชายแดนไทยต้องเกี่ยวโยงกับการถอนกองกำลังกัมพูชาออกจากปราสาทพระวิหารและวัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา

รัฐมนตรีว่าการฯ อธิบายต่อไปว่า โดยที่อินโดนีเซียเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีกฎเกณฑ์ การส่งคณะผู้สังเกตการณ์ที่มีภารกิจเกี่ยวกับชายแดนจะไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่าจะมีหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วย TOR ที่ประชุมจึงเห็นพ้องกันให้มีการดำเนินการเพื่อให้หนังสือแลกเปลี่ยนมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ฝ่ายอินโดนีเซียสามารถส่งคณะผู้สำรวจ (survey team) เดินทางมาหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเกี่ยวกับรายละเอียดในการส่งคณะผู้สังเกตการณ์เข้ามา เช่น ในเรื่องของที่พักของคณะผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งให้คณะผู้สำรวจเข้าไปดูพื้นที่ ๔ จุดของไทย (areas of coverage) ที่จะส่งให้คณะผู้สังเกตการณ์เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเตรียมการสำหรับการส่งคณะผู้สังเกตการณ์มาต่อไป และการดำเนินการของคณะผู้สำรวจจะอยู่ในกรอบของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ส่วนการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้สังเกตการณ์ทั้ง ๑๕ คนจะเป็นขั้นต่อไป ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะมีการดำเนินการในส่วนอื่น ๆ ตามชุดข้อตกลง โดยเฉพาะการถอนกองกำลังของกัมพูชาออกไปจากปราสาทพระวิหารและวัดแก้วสิกขาคีรีสะวาราแล้ว และกระทรวงการต่างประเทศในนามของรัฐบาลไทยจะต้องมีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลอินโดนีเซียด้วย

จากผลการหารือข้างต้น รัฐมนตรีว่าการฯ จะต้องรายงานและเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ให้รัฐมนตรีว่าการฯ สามารถลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนกับอินโดนีเซียได้ ส่วนการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้ของคณะผู้สังเกตการณ์ ขอยืนยันว่า จะไม่มีการเข้ามา หากฝ่ายกัมพูชายังไม่ถอนกำลังออกจากปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา ตลาดและชุมชน ซึ่งฝ่ายอินโดนีเซียเข้าใจเรื่องนี้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้โทรศัพท์กราบเรียนสรุปสาระของการหารือและส่งรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว

๓. รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวย้ำถึงท่าทีของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นการเห็นพ้องเป็นท่าทีเดียวกันระหว่างรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมว่า กองกำลังกัมพูชาต้องถอนออกจากปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นการละเมิดอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีที่มีความขัดแย้งทางอาวุธ ปี ค.ศ. ๑๙๕๔ และออกจากวัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา ชุมชน และตลาด เพราะขัดต่อบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. ๒๕๔๓ (MOU ปี ๒๕๔๓) ซึ่งท่าทีของไทยนี้ไม่ได้เป็นท่าทีใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการเจรจาเกี่ยวกับ TOR แต่เป็นเรื่องที่เรียกร้องมาโดยตลอด ดังนั้น การที่ฝ่ายกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้มีมาตรการชั่วคราว (provisional measures) ซึ่งระบุในเรื่องการถอนกองกำลัง ก็เป็นสิ่งที่ไทยเรียกร้องมาตลอด รวมทั้งได้มีการระบุถึงท่าทีดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย ๑๓ ฉบับ รวมถึงในถ้อยแถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หนังสือประท้วงถึงยูเนสโก และถึงกัมพูชา จึงขอยืนยันว่า ท่าทีของไทยในเรื่องนี้มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการหารือเรื่องนี้ในกรอบอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวโยงกับ TOR สำหรับผู้สังเกตการณ์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งนี้ เพราะการเข้ามาของคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย โดยยังมีกองกำลังของกัมพูชาอยู่ในพื้นที่จะเท่ากับเป็นการให้ความชอบธรรมต่อการกระทำของกัมพูชา และเป็นการยอมรับการสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของไทย ดังนั้น จึงไม่เป็นความจริงที่จะกล่าวหาไทยว่าบิดพลิ้วที่จะไม่ให้ความเห็นชอบต่อ TOR

๔. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมอาเซียน สื่อมวลชน และรัฐสภา ทราบแล้วว่า การพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ไทยมีขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการคิดพิจารณาให้รอบคอบและปรึกษาหารือ ความรวดเร็วในการพิจารณาจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

๕. เกี่ยวกับการประชุมเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวด้วยว่า การประชุมดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงการประชุมระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่เป็นการประชุมในครอบครัวของอาเซียน โดยมีอินโดนีเซียซึ่งได้รับมอบหมายจากอาเซียนให้เข้ามาอำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนให้ไทยและกัมพูชาให้ใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และไม่อยากให้ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างไทยกับกัมพูชาออกไปนอกกรอบของอาเซียน เพราะจะแสดงถึงความไม่เป็นปึกแผ่นของอาเซียน

๖. รัฐบาลไทยมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ (political will) ที่จะเจรจากับกัมพูชา โดยใช้การเจรจาสองฝ่าย ทั้งในกรณีเหตุการณ์ที่บริเวณปราสาทตาเมือน ปราสาทตาควาย และปราสาทพระวิหาร โดยไม่ดึงเอาเวทีระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องเพียงเพราะเป็นเรื่องง่ายที่จะบอกว่าไทยเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าและไปรังแกประเทศที่เล็กกว่า และขอย้ำว่า ไทยไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำเช่นนั้น

๗. ประเด็นที่มีการรายงานข่าวอ้างคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียว่าประณามและกล่าวโทษไทยว่าทำให้การพิจารณา TOR เกิดความล่าช้า รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ไม่อยากให้ประเด็นนี้ก่อให้เกิดความหมางใจกัน โดยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกได้เชิญอุปทูตมาเลเซียประเทศไทยมาเข้าพบ ซึ่งฝ่ายมาเลเซียได้ชี้แจงแล้วว่า รัฐมนตรีช่วยฯ ไม่ได้พูดตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่เป็นการตอบคำถามผู้สื่อข่าว ซึ่งมีการรายงานไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ ท่าทีของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอีก ๘ ประเทศ รวมถึงมาเลเซียมีความชัดเจน โดยเห็นพ้องว่า ประเด็นปัญหาให้ใช้กลไกทวิภาคีโดยมีอาเซียนผ่านทางอินโดนีเซียในฐานะประธานเป็น “พี่เลี้ยง” และให้ยุติปัญหาด้วยสันติวิธี หลีกเลี่ยงการปะทะกัน

๘. ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวว่าจะสามารถนำเอาชุดข้อตกลงที่ได้จากการหารือเสนอให้รัฐบาลรักษาการพิจารณาให้ดำเนินการต่อไปได้หรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม และยืนยันว่าหลักการ เป้าหมาย และท่าทีในการดำเนินการไม่ได้เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ฝ่ายกัมพูชาต้องถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารและวัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา ซึ่งฝ่ายอินโดนีเซียและกัมพูชาก็รับทราบ และระหว่างการหารือเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาก็ไม่ได้ว่าอะไร ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องเป็นขั้นตอน หากไม่ผ่านขั้นแรก ก็จะไม่มีขั้นต่อไป รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวด้วยว่า คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ รัฐมนตรีว่าการฯ จะได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรายละเอียดต่อไปด้วย

ส่วนที่มีการสอบถามว่าการถอนทหารจะมีการหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ใช่ เป็นสิ่งที่เห็นพ้องกันว่า ในขั้นตอนที่หนึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนหนังสือเกี่ยวกับ TOR ของคณะผู้สังเกตการณ์ พร้อมทั้งกำหนดวันประชุม GBC ขณะที่เรื่องการประชุม GBC จะอยู่ในขั้นตอนที่สอง ซึ่งรายละเอียดของวันและสถานที่ประชุม GBC เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศจะต้องหารือกัน ส่วนการที่ฝ่ายกัมพูชาจะถอนกองกำลังหรือไม่ เป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง (politics of compromise) โดยมีเป้าหมายคือ สันติภาพ และไม่ได้หมายความว่าเมื่อฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ อีกฝ่ายหนึ่งจะเสียประโยชน์ (zero sum game) เพราะเราต่างก็เป็นสมาชิกอาเซียนที่มีพันธกรณี และไม่ควรที่จะทะเลาะกันและไปรบกวนประชาคมโลก

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ