เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาปฏิบัติหน้าที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยยืนยันว่า ฝ่ายอินโดนีเซียจะไม่สามารถส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้ จนกว่ากองกำลังกัมพูชาจะออกจากปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นการละเมิดอนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีที่มีความขัดแย้งทางอาวุธ ปี ค.ศ. ๑๙๕๔ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ปี ค.ศ. ๑๙๗๒ และออกจากวัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา ชุมชน และตลาด เพราะขัดต่อบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. ๒๕๔๓ (MOU ปี ๒๕๔๓) ทั้งนี้ หากคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามา โดยยังมีกองกำลังของกัมพูชาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเท่ากับเป็นการให้ความชอบธรรมต่อการกระทำของกัมพูชา และเป็นการยอมรับการสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของไทย ซึ่งไทยมีท่าทีเช่นนี้มาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และเป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยเรียกร้องมาโดยตลอด โดยได้ระบุถึงทั้งโดยวาจาและเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย ๑๓ ครั้ง ดังนั้น ประเด็นการถอนกองกำลังกัมพูชาจึงไม่ได้เป็นท่าทีใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการเจรจาเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะผู้สังเกตการณ์ (Terms of Reference—TOR)
ส่วนตามที่ก่อนหน้านี้มีการรายงานข่าวอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนาย Datuk Richard Riot รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียกล่าวโทษประเทศไทยว่าทำให้การพิจารณา TOR เกิดความล่าช้า นั้น โฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ รัฐมนตรีช่วยฯ ของมาเลเซียได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าวแล้วว่า ผู้สื่อข่าวตีความคำให้สัมภาษณ์ของตนเองผิดไป โดยกล่าวว่าตนได้ตอบปฏิเสธถึงสองครั้งต่อคำถามของผู้สื่อข่าวที่ถามว่าตนกล่าวโทษประเทศไทยต่อการเหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นหรือไม่ ดังนั้น จึงไม่ทราบว่ามีการรายงานข่าวออกมาเช่นนี้ได้อย่างไร ทั้งนี้ ยืนยันด้วยว่ารัฐบาลมาเลเซียมีหลักปฏิบัติที่จะไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน โฆษกกระทรวงฯ กล่าวต่อไปว่า นาย Dato' Sri Anifah Aman รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียได้โทรศัพท์ถึงรัฐมนตรีว่าการฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วด้วย และได้ยืนยันว่า รัฐมนตรีช่วยฯ ของมาเลเซียไม่ได้ให้สัมภาษณ์ตามที่มีการกล่าวอ้าง ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียมีความเข้าใจในเรื่องนี้ดีและรู้สึกเสียใจกับความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--