โฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงประเด็นที่องค์กรฮิวแมนไรท์วอท์ชแสดงความห่วงกังวล

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 18, 2011 12:06 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่สื่อมวลชนได้ให้ความสนใจสอบถามเกี่ยวกับปฏิกิริยาของรัฐบาลต่อรายงานขององค์กรฮิวแมนไรท์วอท์ช (Human Rights Watch - HRW) เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เรื่อง “การเข้าสู่ภาวะความวุ่นวาย: การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อปี ๒๕๕๓ และการปราบปรามโดยรัฐบาล” นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นในรายงานดังกล่าวแก่ HRW ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน แล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

๑. รัฐบาสไทยเคารพสิทธิของประชาชนในการชุมนุมอย่างสันติและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปีที่แล้วด้วย อย่างไรก็ดี หากมีการกระทำผิดกฎหมายหรือการใช้ความรุนแรง ก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งถึงกระนั้น รัฐบาลก็ได้พยายามอย่างสุดความสามารถในการแก้ไขปัญหาโดยสันติและใช้ความอดกลั้นอย่างเต็มที่ แตกต่างจากกลุ่มที่มีการใช้อาวุธที่แฝงอยู่ในกลุ่ม นปช. ที่ไม่ได้ใช้ความยับยั้งชั่งใจในการโจมตีเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ระหว่างวันที่ ๑๔ ถึง ๑๙ พฤษภาคม หรือวันอื่น ๆ ตามที่รายงานของ HRW ได้บรรยายไว้ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎการปะทะที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้กระสุนจริง ดังนั้น จึงเป็นการด่วนสรุปเกินไปที่จะกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้กำลังที่รุนแรงโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ

๒. การสอบสวนอย่างเป็นกลางและอิสระในกรณีการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI) ซึ่งทำงานเป็นอิสระจากทหารและตำรวจได้รับการมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการสอบสวน และได้เรียกตัวเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งระดับบังคับบัญชาและปฏิบัติการมาเพื่อสอบปากคำ การสอบสวนในขั้นต้นพบว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องกับกรณีการเสียชีวิตบางกรณี รวมถึงการเสียชีวิต ๓ รายที่วัดปทุมวนาราม ผลการสืบสวนเบื้องต้นเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อไปยังตำรวจเพื่อสอบสวนเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องหากจำเป็น ซึ่งโดยที่การสอบสวนอย่างเป็นทางการในกรณีเหล่านี้และกรณีอื่น ๆ ยังไม่สิ้นสุด จึงไม่ควรด่วนตัดสินผลการสอบสวนในทางใดทางหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ โดยมีบุคลากรทำงานเต็มเวลาจำนวน ๒๕ คน และที่ทำงานไม่เต็มเวลาอีกประมาณ ๑๐๐ คน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาและอนุกรรมการ นอกจากนี้ คอป. สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างประเทศได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจนถึงบัดนี้ คอป. ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชชาวสวิส ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งจากองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (International Centre for Transitional Justice) พร้อมกันนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของตนเองด้วย

กระบวนการเหล่านี้ควรได้เดินหน้าต่อไป ในส่วนของรัฐบาลนั้น นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า รัฐบาลเปิดกว้างต่อการตรวจสอบและพร้อมจะรับผิดชอบตามกฎหมาย

๓. ผู้ที่ถูกคุมขังจากการชุมนุมทุกรายได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมและได้รับการเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญและในขอบเขตของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกคุมขังภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) ด้วย โดย พ.ร.ก. ดังกล่าวมีบทบัญญัติต่าง ๆ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงมีการกำกับดูแลโดยศาลอย่างเพียงพอ เช่น การจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยจะต้องขอหมายศาล และการขยายเวลาการคุมขังจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลทุก ๆ ๗ วัน โดยระยะเวลาการควบคุมตัวทั้งหมดต้องไม่เกิน ๓๐ วัน ญาติของผู้ต้องสงสัยและทนายความสามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องสงสัยได้ในช่วงที่ถูกคุมขัง และสถานที่คุมขังและรายชื่อของผู้ถูกคุมขังทุกคนต้องมีการบันทึกไว้ ดังนั้น จึงคงไม่เพียงพอที่จะอาศัยคำให้การที่ไม่มีการตรวจสอบ เพื่อสรุปว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือ “การบังคับให้บุคคลหายสาบสูญ” และหากมีการกระทำดังเช่นที่ว่าจริง ก็ควรยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อจะได้มีการตรวจสอบ

ในขณะนี้ไม่มีบุคคลใดที่ถูกคุมขังสืบเนื่องจากการชุมนุมภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ สำหรับผู้ที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่นั้นได้ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาและได้รับการปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายสิทธิต่าง ๆ ขณะที่บางรายศาลก็ได้ตัดสินจำคุกหรืออนุญาตให้ปล่อยตัวไปแล้ว สำหรับรายอื่น ๆ รวมถึงแกนนำการชุมนุม ๗ ราย ก็ได้รับการประกันตัวระหว่างรอพิจารณาคดี นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกคุมขัง โดยเฉพาะที่มีข้อหาไม่ร้ายแรง รวมถึงได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ต้องการประกันตัวด้วย

๔. ไทยเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก ซึ่งมีหลักประกันในรัฐธรรมนูญ และต้องใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อจำกัดใด ๆ ที่มีต่อสื่อจะทำเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงแห่งชาติ โดยจะป้องกันไม่ให้มีการใช้สื่ออย่างผิดกฎหมาย เพื่อสร้างความรุนแรงและเกลียดชังในหมู่ประชาชน ตลอดจนเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ บุคคลใดก็ตามที่กระทำผิดกฎหมายในลักษณะดังกล่าวจะถูกดำเนินการตามกฎหมายไม่ว่าจะสังกัดกลุ่มการเมืองใดก็ตาม

อย่างไรก็ดี รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิในการแสดงออกของบุคคลกับการปกป้องสิทธิอื่น ๆ อาทิ สิทธิส่วนบุคคล และข้อพิจารณาที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ความมั่นคงแห่งชาติ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ด้วยเหตุนี้ สำหรับความผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการกลั่นกรองและให้คำปรึกษาแก่ตำรวจและอัยการเกี่ยวกับคดีหมิ่นฯ เพื่อให้การใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์ และคำนึงถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ผลักดันการปฏิรูปสื่อ เพื่อสร้างหลักประกันให้สื่อสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีเสรีภาพ ปราศจากการข่มขู่หรือบีบบังคับ และสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวในทางสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้สื่อพัฒนาระบบการควบคุมกันเองที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ในการนี้ รัฐบาลได้อนุมัติร่างกฎหมายคุ้มครองวิชาชีพสื่อและผู้บริโภคข่าวสาร ตลอดจนมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป

๕. สำหรับประเด็นการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงเมื่อปีที่แล้วนั้น จนถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยแก่ผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จำนวน ๑,๘๕๓ ราย เป็นจำนวนเงินประมาณ ๑๑๐ ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ให้เงินยังชีพรายเดือนแก่ผู้ทุพพลภาพและครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตในช่วงการชุมนุม อีกทั้งกรมสุขภาพจิตก็ได้ทำการตรวจสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง จำนวนกว่า ๑๐๐,๐๐ ราย และให้คำปรึกษาและให้การรักษากว่า ๒๐,๐๐๐ ราย

๖. ในส่วนของการปฏิรูปหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ขอเน้นว่า พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ได้ให้ตำรวจมีบทบาทหลักในการควบคุมจลาจลและดูแลการชุมนุม และกำหนดให้ เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมต้องผ่านการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจและใช้ความยับยั้งชั่งใจต่อสถานการณ์การชุมนุม

๗. รัฐบาลไทยพร้อมที่จะร่วมทำงานอย่างสร้างสรรค์กับ HRW เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในอนาคต

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ