ความสำเร็จของประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการทบทวนการดำเนินงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 18, 2011 12:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council — HRC) สมัยที่ ๑๖ ณ นครเจนีวา ได้รับรองรายงานผลการทบทวนภารกิจและการดำเนินงานของ HRC โดยไม่มีการลงคะแนนเสียง โดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ในฐานะประธาน HRC ได้ส่งมอบรายงานผลดังกล่าวให้สมัชชาสหประชาชาติพิจารณาเพื่อให้การรับรองต่อไปแล้ว

กระบวนการทบทวนภารกิจและการดำเนินงานของ HRC นั้น เป็นไปตามข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ ๖๐/๒๕๑ ที่ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๙ ซึ่งกำหนดให้ HRC ทบทวนภารกิจและการดำเนินงานของตนเองภายหลังจากการก่อตั้ง ๕ ปี และรายงานให้สมัชชาสหประชาชาติทราบ การทบทวนนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของคณะมนตรีฯ ให้สามารถส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น HRC ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนภารกิจและการดำเนินงานของตนเองขึ้น และได้จัดการประชุมอย่างเป็นทางการ ๒ ครั้ง โดยมีเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ฯ เป็นประธานการทบทวน นอกจากนี้ ไทยในฐานะประธาน HRC ยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่กรุงเทพฯ อีก ๑ ครั้ง เพื่อเร่งหาข้อสรุปของการทบทวนด้วย ในช่วงการดำเนินการดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ ได้พยายามผลักดันท่าทีของตนเอง รวมทั้งให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ มากมายที่แตกต่างกันไป แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ประเทศต่าง ๆ สามารถประนีประนอมเพื่อรับรองรายงานผลการทบทวนร่วมกันได้

สาระสำคัญของผลการทบทวนภารกิจและการดำเนินงานของ HRC ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องกลไกและระเบียบวิธีการทำงานของ HRC โดยมีประเด็นที่ถือเป็นความก้าวหน้า อาทิ การกำหนดให้กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนรายประเทศ (Universal Periodic Review — UPR) ในรอบที่สองและรอบต่อ ๆ ไป มุ่งเน้นการติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการทบทวนรอบแรก การให้ความสำคัญและเพิ่มบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติทั้งในกระบวนการ UPR และในการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นผู้ถืออาณัติกลไกพิเศษ และการจัดตั้งสำนักงานของประธาน HRC เพื่อสนับสนุนให้ประธาน HRC สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกลุ่มทำงานเฉพาะกิจ (task force) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงการดำเนินงานของฝ่ายเลขานุการของ HRC ความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเอื้อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่อยู่นอกนครเจนีวาสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของ HRC รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ทุพพลภาพสามารถเข้าถึง HRC และกลไกต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

การทบทวนการดำเนินงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของไทยในฐานะประธาน HRC ที่จะต้องดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ โดยไทยได้มีบทบาทนำและผลักดันการเจรจาในกระบวนการทบทวน HRC จนสามารถบรรลุฉันทามติได้ก่อนกำหนดเวลาเดิมที่ตั้งไว้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ และเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ได้รายงานผลการทบทวนภารกิจและการดำเนินงานของ HRC ต่อที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กทราบแล้ว ซึ่งถือเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจของประธาน HRC ในเรื่องดังกล่าว โดยขั้นตอนต่อไปคือ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติจะพิจารณาผลการทบทวนดังกล่าวไปพร้อม ๆ กับการพิจารณาเรื่องสถานะของ HRC ซึ่งคาดว่า กระบวนการทบทวน HRC ที่นครนิวยอร์กจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน ศกนี้

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ