เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดงานแนะนำและประชาสัมพันธ์กิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ ๕๐๐ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับโปรตุเกส ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ภายในงานฯ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ดร. จอร์เจ ตอร์ริช-เปเรย์รา เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน และมีการฉายวิดีทัศน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ฯ นิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความสัมพันธ์ฯ การมอบรางวัลแด่นายถวัลย์ ดิษฐสุบรรณ ผู้ชนะการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ฉลองความสัมพันธ์ฯ การเปิดตัวหนังสือประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ ๕๐๐ ปี ไทย-โปรตุเกส (ฉบับภาษาไทยและอังกฤษ) การเปิดตัวตราไปรษณียกรที่ระลึก การแสดงทางวัฒนธรรมและอาหารของทั้งไทยและโปรตุเกส เป็นต้น
ในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ในครั้งนี้ และกล่าวว่า โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาในไทย และเป็นประเทศซึ่งไทยมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานที่สุดด้วย อันแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของสองชาติในฐานะรัฐที่เท่าเทียมกัน วาระครบรอบ ๕๐๐ปี ของความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกสมีนัยที่สำคัญ เนื่องจากโปรตุเกสในยุคนั้นเป็นชาติมหาอำนาจและมีความเชี่ยวชาญด้านการเดินเรือส่งผลให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เทคนิคการเดินเรือและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมาสู่ไทย นำมาซึ่งการเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างเอเชียและยุโรปทางทะเล บทเรียนที่ไทยได้รับจากความสัมพันธ์ในครั้งนี้ คือ ไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ ในขณะเดียวกัน ก็เรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นและพร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา เนื่องจากชาวโปรตุเกสและชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาในไทยจะมีขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ที่แตกต่างจากของไทย ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องดำเนินการ คือ ไทยก็ต้องมองไปข้างหน้าด้วยใจที่เปิดกว้างและเป็นธรรม ยอมรับและศรัทธาในความแตกต่างซึ่งกันและกัน และอยู่ด้วยกันอย่างสันติและบนผลประโยชน์ร่วมกัน
ในขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการฯ และกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้จัดงานฯ ครั้งนี้ ในส่วนของโปรตุเกส ได้เริ่มเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ฯ ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยเรือ Sagres ซึ่งเป็นเรือใบเสาสูงที่สวยที่สุดในโลก ได้มาเยือนไทย นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ ในไทย โดยเฉพาะการสำรวจเส้นทางของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาที่อยุธยาในยุคแรก ๆ ตลอดจนการจัดการสัมมนาต่าง ๆ ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับรัฐมนตรีว่าการฯ ว่า กระแสโลกาภิวัฒน์ได้เข้ามาเมื่อ ๕๐๐ปี ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการติดต่อและสร้างเครือข่ายระหว่างไทยและโปรตุเกส ที่เห็นเด่นชัด คือ ขนมหวานของไทย ไม่ว่าจะเป็นทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ฯลฯ ซึ่งได้รับอิทธิพลของชาวโปรตุเกส และสามารถประยุกต์มาเป็นขนมไทย ในการนี้ ตนเห็นว่า ไทยและโปรตุเกส สามารถร่วมมือกันได้อีกมาก โดยเฉพาะด้านการค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และเทคโนโลยี
ในโอกาสครบรอบ ๕๐๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับโปรตุเกสในปี ๒๕๕๔ นี้ รัฐบาลไทยและโปรตุเกสได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองตลอดทั้งปี กล่าวคือ นอกจากกิจกรรมที่ได้จัดแสดงในงานข้างต้นแล้ว กิจกรรมหลักอื่น ๆ ประกอบด้วย การมอบศาลาไทยแก่โปรตุเกสเพื่อเป็นถาวรวัตถุแห่งมิตรภาพระหว่างสองประเทศ การนำคณะผู้สื่อข่าวโปรตุเกสเยือนไทย การนำศิลปวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ที่โปรตุเกส การเปิดตัวหนังสือเกี่ยวกับสนธิสัญญาสยาม-โปรตุเกส ฉบับแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๓ การแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรระหว่างทีมเยาวชนไทยกับทีมเยาวชน Sporting Clube de Portugal การจัดตั้ง Thai Corner ที่พิพิธภัณฑ์ตะวันออกไกล ณ กรุงลิสบอน เพื่อให้ชาวโปรตุเกสได้มีโอกาสรับรู้และศึกษาอารยธรรมไทยและความเป็นมาของความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส การจัดสัมมนาทางวิชาการ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับประวัติความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส และพิธีเปิดป้ายจารึกเพื่อระลึกถึงชุมชนชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ณ วัดคอนเซ็ปชัญ กรุงเทพฯ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--