เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายเควิน รัดด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศออสเตรเลีย ได้ร่วมกันให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียเยือนไทยและได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลีย อยู่ในระดับที่ดีและมีความใกล้ชิดระหว่างกัน โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เมื่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย มีผลบังคับใช้ ซึ่งทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกันได้เพิ่มสูงมากขึ้น และทำให้ส่งผลต่อการว่าจ้างงาน ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ ๖ ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ ๙ ของออสเตรเลีย ซึ่งไทยและออสเตรเลียจะได้หารืออย่างใกล้ชิดเพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือระหว่างกันต่อไป และในเร็วนี้ ๆ ทั้งสองฝ่ายจะได้เตรียมเฉลิมฉลอง ๖๐ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
๒. สำหรับความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาค นั้น ไทยและออสเตรเลียต่างมีบทบาทในกรอบต่าง ๆ และมีความเห็นที่สอดคล้องกัน ทั้งในกรอบสหประชาชาติ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก และกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ทั้งสหรัฐ ฯ และรัสเซียได้เข้ามาเป็นส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะได้มีการหารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อรองรับต่อสิ่งท้าทายต่าง ๆ ของโลก เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้าย เป็นต้น
๓. ต่อคำถามเรื่องการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของพม่าในปี ๒๕๕๖ นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศตอบว่า ขึ้นอยู่กับมติของอาเซียน โดยอาเซียนจะได้มีการหารือในรายละเอียดระหว่างกันต่อไป อย่างไรก็ดี ออสเตรเลียยินดีที่ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน มีกำหนดเยือนพม่าในเร็ว ๆ นี้ เพื่อสำรวจพัฒนาการทางการเมืองภายในของพม่าภายหลังการมีรัฐบาลใหม่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียจะได้เยือนพม่าในโอกาสแรกด้วย
๔. ต่อคำถามเรื่องปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า บริเวณชายแดนไทย-พม่า นั้น ออสเตรเลียยินดีต่อการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของไทย แม้ว่าจะเป็นภาระสำหรับไทย โดยที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้มีส่วนช่วยเหลือในเรื่องนี้ ผ่านความร่วมมือกับองค์กรเอกชน (NGOs)
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--