เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับข้อคิดเห็นของบางฝ่ายว่าการที่ไทยแต่งตั้งชาวฝรั่งเศสเป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจ (Judge ad Hoc) ในขณะที่หนึ่งในผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ถือสัญชาติฝรั่งเศสอยู่แล้วนั้น เป็นการขัดต่อระเบียบข้อบังคับของศาล (Rule of Court) และธรรมนูญของศาล (Statue of the International Court of Justice) ที่ห้ามมิให้มีผู้พิพากษาที่เป็นสัญชาติเดียวกันมากกว่า ๑ คน โดยโฆษกกระทรวงฯ อธิบายว่า ธรรมนูญของศาลโลกเปิดโอกาสให้ประเทศคู่ความในคดีเลือกผู้พิพากษาเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติหน้าที่เฉพาะคดีนั้นได้ หากประเทศนั้นไม่มีผู้พิพากษาสัญชาติตนอยู่ในองค์คณะของผู้พิพากษาประจำของศาลโลกที่มีอยู่ ๑๕ คน โดยสามารถเลือกแต่งตั้งบุคคลสัญชาติใดก็ได้ ซึ่งคุณสมบัติของผู้พิพากษาเฉพาะกิจที่ระบุไว้ในข้อ ๓๑ ของธรรมนูญศาลโลกนั้นไม่ได้รวมถึงข้อจำกัดเรื่องสัญชาติ ดังนั้น จึงถือเป็นคนละกรณีกันกับการเลือกตั้งผู้พิพากษาประจำศาลโลกที่มีการระบุในข้อ ๓ ของธรรมนูญศาลโลกว่า ศาลโลกประกอบด้วยผู้พิพากษาที่จะต้องไม่มีสัญชาติซ้ำกัน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การที่รัฐบาลทาบทามผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้พิพากษาเฉพาะกิจของฝ่ายไทย เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีความเข้าใจแนวคิดทางกฎหมายของฝรั่งเศสเป็นอย่างดี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มีความเป็นมืออาชีพสูง อีกทั้งเคยเป็นที่ปรึกษาและทนายความในคดีที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนในศาลโลกหลายคดี ทั้งนี้ ผู้พิพากษาเฉพาะกิจมีสิทธิและหน้าที่เท่ากับผู้พิพากษาศาลโลกในคดีในทุกประการ ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีด้วย โดยผู้พิพากษาเฉพาะกิจจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ เพราะไม่ใช่ผู้แทนของประเทศคู่ความที่เลือกเข้ามา แต่ในทางปฏิบัติ ผู้พิพากษาเฉพาะกิจจะมีบทบาทในการถ่ายทอดมุมมองของประเทศที่เลือกตนให้แก่ผู้พิพากษาคนอื่น ๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งก็จะมีผลต่อคำพิพากษาในที่สุด
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--