รัฐมนตรีว่าการฯ หารือทวิภาคีในโอกาสเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 25, 2011 15:49 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางถึงบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) ครั้งที่ ๑๖ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ ๒๕-๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และได้หารือทวิภาคีกับบราซิล เกาหลีเหนือ และประธานสมัชชาสหประชาชาติ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑) ในการหารือกับนาย Jose Antonio Carvalho ผู้แทนระดับสูงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบราซิล บราซิลขอรับการสนับสนุนจากไทยในการภาคยานุวัตสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperation: TAC) ของอาเซียน ซึ่งไทยได้ตอบรับด้วยดี และการสมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บราซิลเป็นคู่ค้าลำดับที่หนึ่งของไทยในลาตินอเมริกา ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือที่ดีระหว่างกันใน FAO โครงการอาหารโลก (WFP) และองค์การการค้าโลก (WTO) ไทยและบราซิลเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรชั้นนำ ในขณะเดียวกัน ต่างใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทนด้วย ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นควรขยายความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ต่าง ๆ เช่น ในกีฬาฟุตบอลที่บราซิลมีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนขยายความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศ Mercosur ให้มากขึ้นด้วย

๒) ในการหารือกับนาย Pak Ui Chun รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาหลีเหนือ ฝ่ายเกาหลีเหนือบรรยายสรุปเกี่ยวกับพัฒนาการที่ดีภายในประเทศ ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี จุดมุ่งหมายของเกาหลีเหนือที่ประสงค์เจรจากับเกาหลีใต้อย่างสันติ ตลอดจนประเด็นเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ ซึ่งไทยขอให้ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้หันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจาโดยสันติ ทั้งนี้ อาเซียนพร้อมให้การสนับสนุนใด ๆ ในการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ อาทิ ในเวที ASEAN Regional Forum (ARF) สำหรับความร่วมมือระหว่างไทย กับเกาหลีเหนือ นั้น ไทยขอให้เกาหลีเหนือพิจารณาการค้าแบบแลกเปลี่ยน (barter trade) อย่างเช่นที่เคยร่วมมือกันในอดีต เพราะเกาหลีเหนือมีศักยภาพด้านถ่านหินและแร่เหล็ก ในขณะที่ไทยมีข้าว มันสำปะหลัง และน้ำตาล ส่วนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน นั้น ขณะนี้ ไทยดำรงตำแหน่งประธาน UN Human Rights Council จึงต้องมองภาพกว้าง

๓) สำหรับการหารือกับนาย Joseph Deiss ประธานสมัชชาสหประชาชาติ นั้น มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสหประชาชาติ โดยสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันให้มีการหารือระหว่างสมาชิกองค์การสหประชาชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งฉันทามติ ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น โดยคงยึดไว้ซึ่งหลักการของสหประชาชาติเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตย ความน่าเชื่อถือ และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นเรื่องพัฒนาการด้านการเมืองและสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งไทยเห็นว่าพม่ากำลังมีพัฒนาการที่ดี อาทิ การปล่อยตัวนักโทษ ซึ่งรวมนักโทษทางการเมืองเมื่อไม่นานมานี้ ความมุ่งมั่นของพม่าที่จะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี ๒๕๕๗ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน มีกำหนดเยือนพม่าในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งพัฒนาการที่ดีและความน่าเชื่อถือของพม่าคือความน่าเชื่อถือของอาเซียนด้วย ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ชี้แจงสถานการณ์ไทย-กัมพูชา ที่เกิดขึ้น และขอให้สหประชาชาติช่วยโน้มน้าวกัมพูชาให้กลับสู่การเจรจา ทั้งนี้ ไทยมีความร่วมมือด้วยดีกับกัมพูชามาโดยตลอด ในฐานะมิตร ทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ความร่วมมือทางวิชาการ ฯลฯ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ