ที่ปรึกษากฎหมายของไทยชี้แจงเหตุผลที่ศาลไม่มีเขตอำนาจในการออกมาตรการชั่วคราว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 1, 2011 12:41 —กระทรวงการต่างประเทศ

ในการชี้แจงของคณะดำเนินคดีของฝ่ายไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด (James Crawford) ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของไทย พยายามชี้ให้ศาลเห็นว่า ศาลไม่มีเขตอำนาจในการออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวในคดีนี้ โดยยกบรรทัดฐานในคดีอื่น ๆ ว่า ศาลไม่ควรออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิที่เป็นประเด็นพิพาทใด ๆ นอกจากสิทธิที่ศาลจะพิจารณาได้ในชั้นคดีหลัก ซึ่งในกรณีนี้คือ การตีความคำพิพากษาเดิมที่ถือเป็นที่สุดแล้วเท่านั้น และศาลไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาว่าคู่ความได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลแล้วหรือไม่ ส่วนกลไกของการบังคับการปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ดยังชี้ให้ศาลเห็นว่า คำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลตัดสินเมื่อปี ๒๕๐๕ นั้นเกี่ยวข้องเฉพาะอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเท่านั้น เห็นได้จากการที่กัมพูชาได้เคยขอให้ศาลตัดสินเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของแผนที่แนบท้าย Annex I และเส้นเขตแดนระหว่างไทยกัมพูชาในบริเวณพิพาท แต่ศาลก็ได้ปฏิเสธ และตัดสินแล้วว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่เขตแดน

ศาสตราจารย์ครอว์ฟอร์ดยังได้ยกบรรทัดฐานในคดีก่อน ๆ ว่า ในคดีของการตีความ ศาลจะหลีกเลี่ยงการพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นใด นอกเหนือจากข้อเท็จจริงในคดีเดิม และจะหลีกเลี่ยงการพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังคำพิพากษา และเห็นว่าคำขอมาตรการชั่วคราวของกัมพูชาเป็นคำขอที่อ้างความจำเป็นฉุกเฉินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห่างไกลจากปราสาทพระวิหาร และเป็นเหตุการณ์ที่ล้วนแต่เกิดขึ้นภายหลังจากคำพิพากษาในปี ๒๕๐๕ ทั้งสิ้น ดังนั้น ศาลจึงไม่มีเขตอำนาจในการออกมาตรการชั่วคราวตามคำขอของกัมพูชา และได้เน้นย้ำว่า เขตอำนาจในการตีความไม่รวมถึงอำนาจในการพิจารณาว่าคู่ความได้ปฏิบัติตามคำขอของศาลแล้วหรือไม่ ซึ่งคำขอของกัมพูชาแท้จริงแล้วเป็นการร้องว่าไทยไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังคำพิพากษาหลายทศวรรษ ซึ่งอยู่นอกขอบเขตอำนาจในการตีความ

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


แท็ก ศาลโลก   ฟอร์ด   Ford  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ