ที่ปรึกษากฎหมายของไทยชี้แจงเหตุที่คำขอตีความและคำขอมาตรการชั่วคราวของกัมพูชาอยู่นอกเขตอำนาจของศาลโลก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 1, 2011 12:47 —กระทรวงการต่างประเทศ

ในการนั่งพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เกี่ยวกับคำขอของกัมพูชาให้ศาลออกมาตรการชั่วคราว เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ศาสตราจารย์อลัง เปลเล่ต์ (Alain Pellet) หนึ่งในที่ปรึกษากฎหมายของไทย ได้เสนอข้อมูลและความเห็นต่อศาลโดยเน้นประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลโลก โดยชี้ให้เห็นว่า คำขอของกัมพูชาไม่ตอบเงื่อนไข ๔ ประการสำคัญในการที่ศาลจะพิจารณาว่าศาลมีเขตอำนาจในการตัดสินหรือไม่ ได้แก่ (๑) คำขอตีความหมายต้องเกี่ยวกับส่วนที่เป็นคำตัดสิน (๒) ต้องมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอย่างแท้จริง (๓) จำเป็นสำหรับการตีความหมาย หรือประเด็นในส่วนคำตัดสิน และ (๔) ไม่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้แก้ไขสิ่งที่ศาลได้พิพากษาแล้ว

ในประเด็นแรก ศาสตราจารย์เปลเล่ต์กล่าวว่า เมื่อปี ๒๕๐๕ ศาลได้ตัดสินใน ๓ ประเด็น ได้แก่ (๑) ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา (๒) ไทยต้องถอนกำลังทหาร ตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลออกจากปราสาทฯ และในบริเวณใกล้เคียงในอาณาเขตกัมพูชา และ (๓) ไทยต้องคืนวัตถุที่เจ้าหน้าที่ไทยได้โยกย้ายไปจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณพระวิหาร ซึ่งคำตัดสินของศาลในข้อ (๒) และข้อ (๓) ผูกพันไทยในลักษณะทันทีเพียงครั้งเดียว ซึ่งไทยได้ดำเนินการแล้วทั้งสิ้นและโดยสมบูรณ์ ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นทางกฎหมายที่จะต้องตีความในเรื่องนี้อีก แต่คำขอของกัมพูชาพยายามเปลี่ยนข้อผูกพันแบบทันทีเพียงครั้งเดียวของไทยนี้เป็นข้อผูกพันแบบต่อเนื่อง ทั้งที่ตลอดช่วงที่ผ่านมากัมพูชาก็ยอมรับว่า ไทยได้ปฏิบัติตามข้อ (๒) และ (๓) ของคำพิพากษามาโดยตลอด และไม่เคยส่งทหารกลับเข้าไปในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ การยื่นคำขอมีขึ้น ๕๐ ปีภายหลังคำพิพากษา ดังนั้น คำขอให้ไทยถอนทหารของกัมพูชาจึงไม่ใช่คำขอตีความคำพิพากษาตามข้อ ๖๐ ของธรรมนูญศาลฯ ส่วนการจะตีความคำตัดสินในข้อ ๑ คือ เรื่องอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารนั้น เรื่องนี้ ไทยไม่โต้แย้งอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด

สำหรับประเด็นที่ ๒ ที่ว่าต้องมีความเห็นที่ไม่ตรงกันอย่างแท้จริงเกี่ยวกับความหมายของส่วนคำตัดสิน ศาสตราจารย์เปลเล่ต์เห็นว่า หากจะมีความเห็นที่แตกต่างระหว่างสองฝ่ายเกี่ยวกับข้อ (๒) และ (๓) ของคำพิพากษา ปัญหาก็คือ เรื่องการดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นคนละกรณีกับการตีความ ส่วนข้อ (๑) ของคำพิพากษาเดิม แม้ฝ่ายไทยจะเห็นว่าไม่ยุติธรรม แต่ก็ได้ดำเนินการตามอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยไม่มีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อไม่มีความเห็นที่แตกต่าง ศาลก็ไม่มีอำนาจในการตีความ และเมื่อศาลไม่มีอำนาจในการตีความ ศาลก็ไม่มีอำนาจในการออกมาตรการชั่วคราวด้วย

ประเด็นที่ ๓ คือ การตีความส่วนเหตุผลของคำพิพากษาสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อจำเป็นสำหรับการตีความหมาย หรือประเด็นในส่วนคำตัดสินเท่านั้น แต่กัมพูชาพยายามเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ ในเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ เป็นคำพิพากษาเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดนซึ่งไม่ถูกต้อง

ประเด็นสุดท้าย คือ คำขอตีความต้องไม่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้แก้ไขสิ่งที่ศาลได้พิพากษาแล้ว คำขอตีความของกัมพูชาเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์เดียว คือ ให้ศาลตัดสินว่าเขตแดนตลอดแนวของสองประเทศเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก ๑ โดยมีนัยปรากฏในคำร้องของกัมพูชา และมีการระบุถึงเหตุการณ์บริเวณชายแดนอื่น ๆ นอกเหนือจากบริเวณปราสาทพระวิหาร เพื่อให้ศาลมีคำสั่งออกมาตรการชั่วคราว ในการนี้ กัมพูชาพยายามให้ศาลตัดสินในสิ่งที่ศาลได้ปฏิเสธเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมา

เมื่อปี ๒๕๐๕ ศาลได้วินิจฉัยว่า คดีปราสาทพระวิหารเป็นคดีเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน และได้จำกัดประเด็นข้อพิพาทเฉพาะในเรื่องดังกล่าว โดยจะนำประเด็นเรื่องเขตแดนมาใช้เป็นเหตุผลประกอบหากจำเป็นสำหรับการตัดสินเท่านั้น และได้สรุปไว้ในท้ายคำพิพากษาด้วยว่า คำขอของกัมพูชาที่ให้ศาลพิจารณาเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก ๑ และเส้นเขตแดนในบริเวณดังกล่าว ศาลจะใช้เพื่อประกอบเป็นเหตุผลเท่านั้น คำร้องของกัมพูชาในครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการขออุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลได้ตอบปฏิเสธไปแล้วในคดีหลัก และนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อใช้แก้ไขสิ่งที่ศาลได้พิพากษาแล้ว

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ